SCG วางแผนรับโควิด ตั้งการ์ดสูง-ปรับตัวไว

เอสซีจีลุยศึกไวรัสโควิด-19 เน้นแผนเดินหน้ารักษาเสถียรภาพธุรกิจในระยะยาวด้วยการพัฒนาโซลูชั่น นวัตกรรมครบวงจร ตอบโจทย์ยุค new normal ควบคู่กับการใช้ดิจิทัลดันช่องทางค้าปลีกออนไลน์

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2/63 มีรายได้การขาย 96,010 ล้านบาท ลดลง -12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 9,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาส 2/62 และเพิ่มขึ้น 35% จากไตรมาส 1/63

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 เอสซีจีมีรายได้การขาย 201,751 ล้านบาทลดลง -9% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2562 มีกำไร 16,355 ล้านบาท ลดลง -13% มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA-high value added products & services) 91,003 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของยอดขายรวม

นอกจากนี้ มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวมการส่งออกจากประเทศไทย 86,638 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของยอดขายรวมลดลง -2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ 30 มิถุนายน 2563 มีมูลค่า706,652 ล้านบาท สัดส่วน 36% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ทั้งนี้ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในไตรมาส 2/63 มีรายได้การขาย 42,506 ล้านบาท ลดลง -7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -8% จากไตรมาส 1/63 เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลงจากมาตรการปิดเมือง

มีกำไร 1,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% จากไตรมาส 2/62 เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และมีรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในไตรมาส 2/62 และลดลง -30% จากไตรมาส 1/63 เนื่องจากมาตรการปิดเมืองปัจจัยด้านฤดูกาลและขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในไตรมาส 2/63

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 มีรายได้การขาย 88,751 ล้านบาท ลดลง -6% เทียบกับครึ่งปีแรก 2562 เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลงจากมาตรการปิดเมืองมีกำไร 4,722 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 36%

นายรุ่งโรจน์ อธิบายว่า ในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้เอสซีจีจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน แต่ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์มีความไม่แน่นอนสูงเพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมแผนการรองรับได้ทันท่วงที เอสซีจีจึงได้ดำเนินธุรกิจให้มีโฟกัสมากยิ่งขึ้น ทั้งการเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เช่น การเตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้าหากมีการปิดเมืองการวางแผนสำหรับโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้ทุกเมื่อ เช่น การปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุด (optimization model) ขณะเดียวกัน ได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตลาดทั้งธุรกิจ e-Commerce การสั่งอาหารออนไลน์ และพฤติกรรมบริโภคที่ใส่ใจสุขอนามัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมโซลูชั่น สินค้าและบริการที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค และโอกาสทางการตลาดได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2563 ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยังคงเผชิญกับสภาวะตลาดที่ท้าทาย จึงปรับตัวมุ่งนำเสนอสินค้าและบริการครบวงจร และพัฒนาช่องทางค้าปลีกรูปแบบ active omnichannel เชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.COM กับเครือข่ายร้านค้า SCG HOME ทั่วประเทศ รวมทั้งนำเสนอแพลตฟอร์มที่สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเจ้าของบ้าน อาทิ คิวช่าง ศูนย์รวมบริการและโซลูชั่นเกี่ยวกับเรื่องบ้านจากทีมช่าง CON.X บริการงานก่อสร้างครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ รื้อ ซ่อม สร้างและตกแต่ง design connext มาร์เก็ตเพลซที่เชื่อมระหว่างนักออกแบบและเจ้าของบ้าน และ dooDeco บริการด้านตกแต่งภายในครบวงจร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้บริการโซลูชั่นงานโครงสร้างผู้ประกอบการรายย่อยด้านอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ CPAC Smart Structure อาทิ เทคโนโลยี BIM-BuildingInformation Modelling และ AR-VR (Augmented & Virtual Reality) เป็นต้น

กิจกรรมการช่วยเหลือสังคม เอสซีจีขอขอบคุณเครือข่าย 125 องค์กรที่ช่วยให้สามารถกระจาย 31 นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงาน847 แห่งทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วและทันต่อความต้องการ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

สำหรับนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 อาทิ ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (modular screening & swab unit) โดยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ living solution หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาระยะไกล โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (mobile isolation unit) โดยธุรกิจเคมิคอล รวมทั้งชุดกระดาษอนามัย ถุงซักผ้าละลายน้ำได้ เตียงกระดาษถอดประกอบได้ โดยธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ได้ร่วมกับบริษัทคูโบต้าและโตโยต้า

เอสซีจียังได้รับสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ให้ดำเนินการผลิตและติดตั้ง “ห้องตรวจหาเชื้อ (modular swab unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” ให้แก่โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง”นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (mobile isolation unit)” และ “ห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อ (modular screening & swab unit)” สำหรับส่งมอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนานำไปช่วยเหลือโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ และช่วยปกป้องประชาชนที่มารับการตรวจรักษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19