อธิป พีชานนท์ เทียบความเสี่ยงการเมือง ลงทุนไทย-เวียดนาม

ม็อบประชาชนปลดแอก

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 นายอธิป พีชานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหา ให้ความเห็นกรณี กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ชุมนุมว่า หวั่นม็อบยืดเยื้อรุนแรงสะเทือนลงทุนจากต่างชาติ

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมบ้านจัดสรร และนายกกิตติมศักดิ์อาคารชุดไทย กล่าวว่า หากม็อบยืดเยื้อและมีความรุนแรงเกิดขึ้นอาจมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจได้ เพราะนักลงทุนไทยและต่างชาติเจอปัจจัยทางเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด รวมถึงกำลังซื้อหดตัว ทำให้ไม่มั่นใจในการลงทุนอยู่แล้ว หากมีปัจจัยทางการเมืองเพิ่มเข้ามาจะทำให้เหนื่อยหนักกว่าเดิม 50%

อธิป พีชานนท์

ถ้านักลงทุนเห็นว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ นโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายทางด้านภาษี การกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเสี่ยงต่อการลงทุนของเอกชน หรือหากมีรัฐบาลรักษาการณ์จะไม่สามารถตัดสินใจผูกสัญญากับโครงการใดได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง

นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ indirect investment หากมีภาวะไม่แน่นอน กองทุนหรือนักลงทุนต่างชาติอาจจะเทขาย ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนไปในทิศทางขาลง และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภครายย่อยซึ่งอาจจะ wait and see ทำให้วงจรการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว

“คนภายนอก (นักลงทุนต่างชาติ) เขามองเป็นภาพใหญ่ว่าประเทศไทยยังไม่สงบ ถ้าเทียบกับเวียดนามที่มีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ค่อนข้างมีเสถียรภาพ รัฐบาลอยู่ยาว ตัวนโยบายจะต่อเนื่อง ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะต้องการประชาธิปไตยให้ประเทศต่าง ๆ แต่เขาไม่ไปแทรกแซงเวียดนาม และเข้าไปลงทุนในประเทศไม่มีประชาธิปไตยด้วยซ้ำ”

“แต่รัฐบาลไทยเขาไม่มั่นใจว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน รัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร ใครจะดูแลเศรษฐกิจ ผมมองว่าตอนนี้ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย หรือยุโรป นาทีนี้เขามองประเทศไทยว่ามี political risk มีผลต่อการลงทุน เขาอาจเลือกลงทุนที่เวียดนาม หรืออินโดนีเซียที่ไม่มีปัญหาทางการเมือง” นายอธิป อธิบาย

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสื่อสารอย่างมีเจตนาที่ดีและมีความสุจริตใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง ที่มาของ ส.ว. และ ส.ส. ควรเรียกร้องให้มีคณะทำงานร่วมขึ้นมาระหว่างตัวแทนนักศึกษา นักวิชาการ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ฝากไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว