ขับเคลื่อน ‘อสังหา-ค้าปลีก’ ‘บิ๊กตู่’ เปิดทำเนียบรับโจทย์แก้เศรษฐกิจ

นายกฯประชุมภาคธุรกิจอสังหา-ค้าปลีก

ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย-ภาคธุรกิจค้าปลีกไทย เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคธุรกิจ โดยให้เสนอเรื่องสำคัญที่สุด 3 เรื่อง ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน รวมไปถึงกฎกติกาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจ

ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเสนอเรื่องสำคัญที่สุดในหลากหลายปัญหาของแต่ละสมาคม ภายในเวลาที่เปิดให้พรีเซนต์คนละ 5 นาที

ศุภาลัยเสนอกู้กำลังซื้อ

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ศุภาลัย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1) การปลดล็อกมาตรการ LTV ซึ่งเป็นมาตรการต้องการสกัดนักเก็งกำไรอาคารชุดแต่ฉุดกำลังซื้อในตลาดเพราะลูกค้าเกิน 10% เคยซื้อที่อยู่อาศัยได้กลายเป็นซื้อไม่ได้ หรือซื้อได้ยากขึ้น ที่สำคัญ LTV ยังส่งผลกระทบต่อการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีการเก็งกำไร

“ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไปหลังเจอสถานการณ์โควิด ทำให้แทบไม่มีการเก็งกำไรในตลาดอาคารชุด มาตรการ LTV จึงควรเลื่อนการบังคับใช้ หรือยกเลิกไปเลย”

2) ขอให้ปรับเงื่อนไขส่งเสริมลงทุน หรือบ้าน BOI เดิมกำหนดที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1-1.2 ล้านบาท ซึ่งเพดานราคาไม่สามารถพัฒนาได้เพราะต้นทุนที่ดินสูง เสนอปรับเพดานราคาบ้าน-คอนโดฯ BOI เป็น 1.5-1.8 ล้านบาท ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้น

3) มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ลดค่าโอน-จำนองจาก 3% เหลือ 0.01% มีข้อจำกัดเพดานราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 30% เสนอเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ให้ครอบคลุม 60-70% ของตลาดรวม

4) ให้กรมที่ดินปลดล็อกกฎหมายจัดสรร เดิมข้อบังคับการขออนุญาตจัดสรรบ้านเดี่ยว ที่ดินต้องเริ่มต้น 50 ตร.ว.ให้ลดเหลือ 40 ตารางวา, บ้านแฝดปัจจุบันบังคับที่ดินเริ่มต้น 35 ตร.ว. ให้ลดเหลือ 30 ตร.ว. ให้บ้านราคาถูกลง เพิ่มอำนาจซื้อ

5) ให้ปรับปรุงเกณฑ์การจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันบังคับใช้กับทำหมู่บ้านพื้นที่รวม 100 ไร่ หรือจัดสรร 500 แปลงขึ้นไป ปรับเป็นหมู่บ้าน 200 ไร่ หรือจัดสรร 1,000 แปลงขึ้นไป ควบคู่ EIA อาคารชุด ปัจจุบันบังคับโครงการที่มีห้องเกิน 79 ยูนิตขึ้นไป เสนอเป็น 240 ยูนิต

6) ส่งเสริมกำลังซื้อของลูกค้าต่างชาติ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ การซื้อขายอสังหาฯเพื่ออยู่อาศัย-ทำธุรกิจ-ลงทุน กับบ้านผู้สูงวัยสำหรับชาวต่างชาติ หรือ wellness วัยเกษียณ, ท่องเที่ยวและฟื้นฟูสุขภาพ วิธีการคือส่งเสริมผ่านช่องทาง BOI โดยต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในเมืองไทย 40 ล้านบาทขึ้นไป สามารถซื้อที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ เงื่อนไขวงเงินลงทุนต้องดำรงไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี, ผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมือง

โดยชาวต่างชาติที่มีการลงทุนในเมืองไทยเกิน 10 ล้านบาท สามารถขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ได้ และผ่านช่องทางโครงการ Thailand Eliter Card สำหรับค่าสมาชิก 2 ล้านบาท ได้วีซ่า 5 ปี

โกลด์เสนอแพ็กเกจกระตุ้น

ด้าน นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โกลเด้นแลนด์ เรสซิเดนซ์ เสนอ 7 ข้อ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น 6-12 เดือน หากทำได้จริงธุรกิจอสังหาฯฟื้นตัวได้เร็วแน่ ข้อเสนอ

1) ยกเลิก LTV เนื่องจากช่วงโควิด ไม่มีนักเก็งกำไรคอนโดฯในตลาด รวมทั้งสามารถกู้ได้ 100%

2) เสนอปลดล็อกเงื่อนไขแบงก์ชาติ ที่บังคับเงินดาวน์ 20% สำหรับการซื้อบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้ยกเลิกบังคับใช้ดึงกำลังซื้อสูง

3) ให้แบงก์ชาติปลดล็อกเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินในส่วนผู้กู้อาชีพอิสระ โดยการพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยกู้แต่ละสถาบันการเงินมีกติกาของตัวเองอยู่แล้ว 4) การลดค่าธรรมเนียมโอน-จำนอง ปัจจุบันมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จำกัดเพดานซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ขอให้ยกเลิกเพดาน การซื้อที่อยู่อาศัยทุกราคาได้รับสิทธิ์นี้ทุกยูนิต

5) ให้ยกเลิกการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ซึ่งเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ หรือผู้ถือครองที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ปี

6) เสนอให้นำมาตรการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งรัฐช่วยค่าดาวน์กลับมาใช้อีกครั้ง โดยปรับเกณฑ์ 3 กลุ่มราคา คือ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รัฐช่วยดาวน์ 5 หมื่นบาท, ราคา 3-5 ล้านบาท รัฐช่วยดาวน์ 100,000 บาท และราคา 5-7 ล้านบาท รัฐช่วยดาวน์ 200,000 บาท

และ 7) เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เสนอให้รัฐสนับสนุนสินเชื่อผ่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2%

รับสร้างบ้านขอ Wave ภาษีที่ดิน

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เสนอให้รัฐกระตุ้นลูกค้าผู้ที่ต้องการปลูกบ้านบนที่ดินตัวเอง ด้วยการ 1) ขอมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2% ของราคาบ้าน หรือล้านละ 20,000 บาท แต่ลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นเวลา 5 ปี

2) ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ถือครองที่ดินเปล่า รอปลูกสร้างบ้านในอนาคต ให้สามารถถือครองที่ดินเปล่าได้คนละไม่เกิน 200 ตารางวา ส่วนเกินจากนั้นหรือ 201 ตารางวาขึ้นไป ให้จ่ายภาษีตามปกติ และ

3) เสนอให้จัดระเบียบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจรับสร้างบ้าน ด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน จนผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากกรมที่ดิน การอนุมัติ EIA กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยากเห็นการปฏิรูปหน่วยงานราชการ

สมาคมค้าปลีกชง 3 เรื่องปลุกเศรษฐกิจ

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวถึงข้อเสนอแนะในส่วนของสมาคมในระยะสั้นเพื่อพัฒนาระบบค้าปลีกว่า ให้พยุงการจ้างงาน ด้วยการจ้างงานรายชั่วโมง เนื่องจากธุรกิจการค้าปลีกสินค้าและบริการ มีช่วงเวลาการให้บริการที่ไม่สม่ำเสมอ หากภาครัฐประกาศอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง ช่วงฟื้นตัวเศรษฐกิจจะช่วยกระจายการจ้างงานได้

ดังนั้น สมาคมจึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงาน ประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น หากสามารถจ้างงานได้มากกว่า 20% จะสามารถสร้างงานเพิ่มได้มากกว่า 1.2 ล้านอัตรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะภาคการค้าปลีก แต่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและทุกขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธุรกิจบริการอื่น ๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางการกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างผ่าน “โครงการช้อปช่วยชาติ” ด้วยวงเงิน 50,000 บาทในกรอบเวลา 60 วัน คาดว่า จะสามารถสร้างเงินสะพัด 75,000 ล้านบาท ภายใน 60 วัน รวมถึงการกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 10% จะสามารถสร้างเงินสะพัดได้ถึง 25,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน

และเสนอแนวทางการขับเคลื่อน SMEs ให้อยู่รอดและแข็งแรงโดยให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐตั้งไว้แล้ว เร่งจ่ายเงิน SMEs ขนาดเล็ก จากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน ให้สามารถเพิ่มสภาพคล่องสู่ SMEs กว่า 5 แสนราย ไม่สร้างหนี้เสีย

“ถ้าได้รับอนุมัติจะส่งผลให้ SMEs อยู่รอดกว่า 1.3 ล้านราย ขยายการจ้างงานจาก 6.2 ล้านอัตรา เป็น 7.4 ล้านอัตรา เม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้าน รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านบาท” นายญนน์กล่าว

นายกฯประชุมภาคธุรกิจอสังหา-ค้าปลีก