เชียงใหม่ ซึมหนักไตรมาส 3 ร้านอาหาร-ของฝาก ปิดกิจการอีกเพียบ

ปิดกิจการ - จังหวัดเชียงใหม่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวหัวเมืองหลักได้รับผลกระทบอย่างหนักทางด้านเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา เพราะหลายประเทศยังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจการที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติได้รับผลกระทบ

ภาคเอกชนเชียงใหม่กระทุ้งรัฐเร่งอัดฉีดงบประมาณ 4 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังซึมหนัก ธุรกิจท่องเที่ยวทยอยปิดกิจการ ไกด์ตกงาน 90% ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกย่านนิมมานฯ-ไนท์บาซาร์ปิดกิจการเพียบ

เสนอปลดล็อกเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้เข้าถึงง่าย พร้อมยืดเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 6-12 เดือน คาดไตรมาส 4 เศรษฐกิจยังซึมต่อเนื่อง หวั่นปัญหา NPL ขยายตัวเพิ่มขึ้น

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของจังหวัดเชียงใหม่ยังซึมต่อเนื่อง แม้มีการคลายล็อกดาวน์แต่ข้อเท็จจริงจากภาคธุรกิจจริง (real sector) ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ถือเป็นดัชนีชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดี พบว่าหลายธุรกิจสำคัญโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวได้เกิดการชะลอตัวอย่างหนัก

ประธานหอการค้าเชียงใหม่ ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวของเชียงใหม่มีสัดส่วนถึง 65% ของ GPP รวมของจังหวัดที่มีมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ธุรกิจทั้งระบบหยุดชะงัก เม็ดเงินหาย เป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง

นายวโรดม ระบุว่า งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทยังไม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ก็เข้าสู่ระบบเพียงแค่ 20% เท่านั้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบในขณะนี้ไม่มีแรงขับเคลื่อน

“ตอนนี้ร้านอาหารปิดกิจการไปจำนวนมาก บริษัททัวร์ บริษัทท่องเที่ยว ก็ทยอยปิดกิจการ ไกด์ตกงานแล้วกว่า 90% ร้านขายของที่ระลึกย่านไนท์บาซาร์ปิดกิจการไปจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจร้านค้าย่านถนนนิมมานเหมินท์”

วโรดม ปิฏกานนท์
วโรดม ปิฏกานนท์

ดังนั้น หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบเพื่อช่วยให้เกิดสภาพคล่องและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อีก 80% ที่ต้องเร่งปล่อยเข้าสู่ระบบ และผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น เพราะเงื่อนไขเดิมผู้ประกอบการหรือลูกค้าทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้การตั้งกำแพงเงื่อนไขสินเชื่อที่สูงเกินไปจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก

คาดไตรมาส 4 ยังไม่ฟื้นตัว

นายวโรดมกล่าวว่า หากมองแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัว แม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของเชียงใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกำลังซื้อกลุ่มหลักอาจยังไม่กลับเข้ามา คงต้องหวังเพียงนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น

ซึ่งในภาพของไตรมาส 4 น่าเป็นกังวลว่าอาจมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น เพราะมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงเดือนตุลาคม 2563 ธุรกิจและผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาวก็จะได้รับผลกระทบ อาจมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้น และอาจมีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดภาคเอกชนหลายภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ ห้องประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยภาคเอกชนเชียงใหม่ได้นำเสนอประเด็นการแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.ขอขยายการพักชำระหนี้ออกไปอีก 6-12 เดือน

2.ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเหลือค้ำประกันผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการเพิ่มวงเงินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ของ บสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อ soft loan

3.แนวทางการโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ซึ่งเคยใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการมาแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

4.การผ่อนผันหลักเกณฑ์ค้ำประกันเงินกู้ และขยายระยะเวลาอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (2%) ออกไปเป็น 3-5 ปี

5.การให้ความช่วยเหลือประคองธุรกิจผู้ประกอบการชั้นดีที่ไม่มีประวัติเสียมาก่อน ให้สามารถขยายวงเงินสินเชื่อเดิมให้เพียงพอ เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ร่วมมือรถไฟ หวังกระตุ้นท่องเที่ยว

ด้านนายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ สมาคม MICE & Organizer ภาคเหนือ สมาคมบ้านถวาย สมาคมท่องเที่ยวฮาลาลฯ สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมไทยล้านนาสปา กลุ่ม YEC หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้หารือร่วมกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือในการผลักดันเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟเชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

หนึ่งในโครงการที่ได้พูดคุยกัน คือ แคมเปญการส่งเสริมการท่องเที่ยว “Visit Chiang Mai : I miss you” รวมถึงประเด็นการท่องเที่ยว Tri-Cities Airport เพื่อเชื่อมโยงสนามบินลำปาง เชียงใหม่ และเชียงราย

นอกจากนี้ ยังได้เสนอประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย เร่งทำการตลาดส่งเสริมนักท่องเที่ยวไทย เดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือ, เปิดรถไฟขบวนหรูพิเศษ Lanna Express เชื่อมโยง เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ตกแต่งด้วยงาน craft เน้นอัตลักษณ์ล้านนา, เปิดพิพิธภัณฑ์รถไฟ และศูนย์การเรียนรู้วิศวกรรมหัวจักรรถไฟ

แนวคิดอื่นๆ ยังรวมถึง ทำการตลาดร่วมกับไนท์ซาฟารี และมีโบกี้บริการ นวด/สปาบนรถไฟ ครัวอาหารเหนือ และคาเฟ่ ชา กาแฟ จากเชียงใหม่บนรถไฟ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้นำข้อหารือดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป