คมนาคม ปั๊มลงทุนหลุดเป้าปีนี้-โยก 3.6 หมื่นล้าน โด๊ปเศรษฐกิจปีหน้า

คมนาคมเบิกจ่ายงบปี 2563 หลุดเป้า 1.97 แสนล้าน ทำผลงานได้แค่ 80% ยังเหลืออีกกว่า 3.6 หมื่นล้าน เซ็นสัญญาไม่ทัน กันใช้ต่อปี 2564 ทั้งโครงการทางหลวง ทางหลวงชนบท เจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน

แม้จะเข้าสู่ปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.-ธ.ค.) มาได้เกือบ ๆ จะ 1 ไตรมาสแล้ว และกำลังเข้าสู่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนของกระทรวงคมนาคม มี ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นเจ้ากระทรวง เรียกว่าเป็นกระทรวงเกรดเอ ได้รับงบประมาณผ่านมือแต่ละปีติด Top 10  และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี

งบออกช้า-ปัญหารุมฉุดเบิกจ่าย

ด้วยเนื้องานที่ต้องดูแลถนนหนทางทั่วประเทศ และเมกกะโปรเจ็กต์ทั้งระดับเล็กใหญ่ที่ต่อคิวรอจัดซื้อจัดจ้างทุกปี ทำให้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปีสูงขึ้นเรื่อย ๆ โฟกัสงบประมาณปี 2563 ด้วยสถานการณ์รุมเร้าทั้งสภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องถูกหั่นงบไปช่วยพยุงเศรษฐกิจ แถมพ.ร.บ.งบประมาณที่ประกาศบังคับใช้ล่าช้า ถึง 4 เดือน เหลือเวลาเบิกจ่ายงบประมาณเพียง 7 เดือน(ก.พ.-ก.ย.)ด้วยเวลาที่จำกัดจำเขี่ย ทำให้”คมนาคม”มียอดเบิกจ่ายต่ำเป้าที่ทุกปีจะได้กว่า 90%ขึ้นไป

ปี’63 เบิกจ่ายได้แค่ 80.11%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายของงบประมาณปี 2563 ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 197,171.10 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 157,953.64 ล้านบาท คิดเป็น 80.11% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 122,906.53 ล้านบาท คิดเป็น 77.30%
ยังคงเหลือเงินกันต่อปี2564 จำนวน 36,267.47 ล้านบาท

“มีโครงการที่ยังเซ็นสัญญาไม่ทันเดือนก.ย. รวม 33 โครงการ เช่น กรมเจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท“

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับผลเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 จำแนกเป็นงบฯส่วนราชการ 164,951.04 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 130,109.43 ล้านบาท คิดเป็น 78.88% ของงบประมาณทั้งหมด และเป็นรายจ่ายลงทุน 117,591.33 ล้านบาท คิดเป็น 77.26%

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 32,220.06 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 27,844.21 ล้านบาท คิดเป็น 86.42% ของงบประมาณทั้งหมด และเป็นรายจ่ายลงทุน 5,315.20 ล้านบาท คิดเป็น 78.12%

ทล.-ทช.ทำผลงานดีสุด

เมื่อจำแนกหน่วยงานส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดและรายการเบิกจ่ายงบประมาณ 5 อันดับ อันดับ 1 คือ กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณ 105,824.21 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 83,204.75 ล้านบาท คิดเป็น 78.63% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 77,303.16 ล้านบาท คิดเป็น 77.42% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 22,243.30 ล้านบาท

อันดับที่ 2 กรมทางหลวงชนบท (ทช.)ได้รับจัดสรรงบประมาณ 45,154.52 ล้านบาท เบิกจ่ายได้37,430.92 ล้านบาท คิดเป็น 82.90% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 35,750.70 ล้านบาท คิดเป็น 82.29%  และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 7,657.50 ล้านบาท

”ขนส่ง”เบิกจ่ายมากสุด 90.8%

อันดับที่ 3 กรมท่าอากาศยาน (ทย.) รับการจัดสรรงบประมาณที่ 5,341.77 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2,175.23 ล้านบาท  คิดเป็น 40.72% ของงบประมาณทั้งหมด  เป็นรายจ่ายลงทุน 1,651.67 ล้านบาท คิดเป็น 34.40% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 2,536.92 ล้านบาท

อันดับที่ 4 กรมเจ้าท่า (จท.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4,171.98 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 3,383.65 ล้านบาท คิดเป็น 8.10% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 2,351.27 ล้านบาท คิดเป็น 75.90% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 749.80 ล้านบาท

และอันดับที่ 5 กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ 3,532.79 ล้านบาท เบิกจ่ายได้3,182.50 ล้านบาท คิดเป็น 90.08% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 398.46 ล้านบาท คิดเป็น 55.34% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 344.90 ล้านบาท

”รฟม.-การทาง”เบิกจ่ายมากสุด

ด้านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับ

  • อันดับที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับจัดสรรงบประมาณ 13,574.90 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 10,555.48 ล้านบาท คิดเป็น 86.42% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 1,095.11 ล้านบาท คิดเป็น 42.91% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 2,507.88 ล้านบาท
  • อันดับที่ 2 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ12,536.17 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 12,56.77 ล้านบาท คิดเป็น 99.77% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 3,503.85 ล้านบาท คิดเป็น 99.97% และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 29.40 ล้านบาท
  • อันดับที่ 3 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับจัดสรรงบประมาณที่ 5,211.03 ล้านบท  เบิกจ่ายได้3,915.08 ล้านบาท คิดเป็น 75.13% ของงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่พบการบันทึกในรายการที่เป็นรายจ่ายลงทุนและเงินคงเหลือที่กันต่อปี 2564
  • อันดับที่ 4 สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 588.40 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 557.12 ล้านบาท คิเป็น 94.72% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นรายจ่ายลงทุน 406.68 ล้านบาท คิดเป็น 92.90%  และคงเหลือเงินที่กันต่อปี 2564 ที่ 26.04 ล้านบาท
  • อันดับที่ 5 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับจัดสรรงบประมาณที่ 309.56 ล้านบาท เบิกจ่ายและเป็นรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 3009.56 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของงบประมาณทั้งหมด โดยไม่มีเงินคงเหลือกันต่องบประมาณปี 2564