ศึกรถไฟฟ้า 2 สี…คือ ศึกศักดิ์ศรี นั่นเอง

อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สีที่พันกันจนยุ่ง ทั้ง ๆ ที่อยู่คนละสังกัด สายสีเขียวขึ้นตรง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” และกระทรวงมหาดไทย มี “พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” เป็นเจ้ากระทรวง ส่วน “คีรี กาญจนพาสน์” เป็นผู้รับสัมปทานบีทีเอส 23.5 กม. จะครบสัมปทาน 4 ธ.ค. 2572

ซึ่งกำลังลุ้นขยายสัญญาทั้งสายหลักและส่วนต่อขยาย 30 ปีถึง 4 ธ.ค. 2602 หลังยอมรับเงื่อนไขว่าจะหาเงินกว่า 1 แสนล้านมาชำระหนี้ค่าก่อสร้างช่วง “แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต” ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายแทน กทม.ภายใต้ข้อสรุปเจรจาตามคำสั่ง ม.44 ที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีเซ็นเมื่อ 11 เม.ย. 2562

การเจรจาจบไปเนิ่นนาน รอเพียง “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติ แต่มาติดหล่มที่กระทรวงคมนาคมกับ 4 ปมเรื่อง “ค่าตั๋วแพง” และข้อพิพาทค่าจ้างเดินรถ เรื่องยังค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.ทำให้การอนุมัติถูกทอดยาวออกไปจน กทม.หักดิบขึ้นค่าโดยสาร 15-104 บาท (เริ่ม 16 ก.พ. 2564) เดิมจะเก็บ 15-65 บาท

 

สุดท้าย “สายสีเขียว” กลับมาพัวพันถึง “สายสีส้ม” ที่กำลังเปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุน 1.28 แสนล้านช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 30 ปี โดยมี 2 บิ๊ก “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” อาจจับมือกับอิตาเลียนไทยฯร่วมชิงดำกับกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ที่มีบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผนึก บมจ.ซิโน-ไทยฯ

ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ที่มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม กำกับดูแล

เท่ากับ “บีทีเอส” กำลังขยายพื้นที่การรับงานมากขึ้น จากโมโนเรล “สีชมพู-สีเหลือง” ทำให้คู่แข่งที่คาดหวังกับสายสีส้มเริ่มหวั่นไหว พร้อมตั้งการ์ดสูง

BTS รุกหนักหลังยื่นฟ้องศาลปกครองว่า “รฟม.” เปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือก

ปมเกิดขึ้นจาก “อิตาเลียนไทยฯ” หนึ่งในผู้ซื้อซองทำหนังสือขอไม่ให้พิจารณาผู้ชนะเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด แต่ควรพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องเทคนิค ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอด้วย

เมื่อเปลี่ยนประธานคณะกรรมการ มาตรา 36 ใหม่ “รฟม.” นำคำร้องของอิตาเลียนไทยฯขอเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือก จากเปิดซองคุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม เป็นแบบสูตรผสม ผ่านคุณสมบัติ เปิดซองเทคนิคพร้อมการเงิน และนำคะแนนเทคนิคพิจารณาร่วมการเงิน 30 : 70 คำนวณเป็นผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับเป็นตัวชี้ขาด จากเดิมตัดเชือกที่ “ราคา”

งานนี้ “BTS” คงไม่ยื่นฟ้องหาก รฟม.ประกาศเกณฑ์ใหม่ก่อนเปิดขายซอง ไม่เปลี่ยนใจหลังปิดการขายไปแล้ว BTS มองว่าเป็นการใช้ดุลพินิจตัดสิน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

 

โดย “ศักดิ์สยาม” กล่าวย้ำว่า สายสีส้มมีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องเทคนิคและการก่อสร้าง ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาจนได้รับความเสียหาย จ่ายกันเป็นพันล้านเหมือนสายสีน้ำเงิน

ยกแรกดูเหมือน BTS ชนะ “ศาลปกครองกลาง” มีคำสั่งให้ทุเลาบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ขณะที่ รฟม.และคณะกรรมการ มาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่ง ทำให้การประมูลสะดุดร่วม 3 เดือน

จึงน่าจับตา ยกที่สอง ว่าจะเกิดเกมพลิก หรือพลิกเกมอย่างไร

หลัง รฟม.ล้มประมูลสายสีส้ม เท่ากับยุติคดีที่ฟ้องร้อง

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า จะเปิดประมูลใหม่ตามกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คาดใช้เกณฑ์พิจารณาซองเทคนิคคู่กับราคา ถึงได้ล้มประมูล หากใช้เกณฑ์เดิมคงเปิดซองไปแล้ว

และจะทำหนังสือแจ้งเหตุผลยกเลิกประมูลให้ BTS และ BEM รับทราบ พร้อมคืนซองเอกสาร

จากนั้นจะเริ่มกระบวนการใหม่ รับฟังความคิดเห็นเอกชนเพื่อออกทีโออาร์ใหม่แบบชัด ๆ โดยไม่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการ มาตรา 36

เกมงานประมูล นอกจากจะมีมูลค่ามหาศาลแล้ว ศักดิ์ศรีก็มีราคาแพงไม่ด้อยกว่ากัน