“ท่าเรือ” เปิดแผนลงทุนครั้งใหญ่ ชงครม. เคาะสัมปทาน “แหลมฉบังเฟส 3” 30 มี.ค.

“อธิรัฐ” เผยชงครม. เคาะแหลมฉบังเฟส 3 นัด 30 มี.ค. หลังบอร์ดอีอีซีเห็นชอบผลเจรจาด้านผลตอบแทน “กมลศักดิ์”กางแผนท่าเรือปี ‘64 พัฒนาท่าเรือบกร่วม สนข.-นิคมอมตะ จับมือกทพ.ผุดทางด่วน S1 แย้มโปรเจ็กต์สมาร์ทพอร์ต 400 ไร่ ดึงเอกชนลงทุน 30-35 ปี มีดิวตี้ฟรีด้วย

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ว่า ในโอกาสการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีอายุครบ 70 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่าเรือมีความสำคัญด้านโลจิสติกส์และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกแล้วอยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรณีวงเงินที่เจรจากับเอกชน ต่ำกว่ากรอบที่อนุมัติ

“จากการเจรจากับเอกชนได้ปรับเพิ่มผลตอบแทนขึ้นมาที่ 29,050 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคาที่คาดหวัง 32,225 ล้านบาท ประมาณ 9.85% คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในปีนี้”

ด้านเรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เสนอผลคัดเลือก ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่า จะเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า (วันที่ 30 มี.ค.64)

หลัง ครม.เห็นชอบ จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน จึงลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ,บจ. พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และบจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ได้

“ขั้นตอนหลังครม.เห็นชอบ คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาร่างสัญญาร่วมกับเอกชนอีกครั้ง ควบคู่กับการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 5 (ข้อเสนอทางเทคนิคเพิ่มเติม) ซึ่งไม่มีผลต่อการพิจารณาแล้ว จากนั้นส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และเสนอ กพอ.อนุมัติก่อนลงนามสัญญา โดยหลังลงนามกลุ่ม GPC จะรับผิดชอบดำเนินการเรื่อง EIA ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี และก่อสร้างใน 4 ปี” เรือโทกมลศักดิ์กล่าวและว่า

ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ 29,050 ล้านบาท หากคำนวณNPV ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี จะอยู่ที่กว่า 87,400 ล้านบาท ซึ่งยอมรับได้ และเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (FS) ต่ำกว่าประมาณ 300 ล้านบาท เท่านั้น

Q1 ปี 64 รับสินค้าแล้ว 25 ล้านตัน

ผอ.ท่าเรือ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการของ กทท.ในไตรมาสแรก 2564 มีปริมาณสินค้า จำนวน 25.762 ล้านตัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงอยู่ที่ 6.24% มีตู้สินค้าผ่านท่า 2.311 ล้านTEU ลดลง 2.81%

ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ หลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศมีวัคซีนป้องกัน ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่า มีทิศทางฟื้นตัว ส่งผลให้ในเดือนม.ค. 2564 ปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 3.57% อยู่ที่ 9.253 ล้านตัน จาก 8.934 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.66% อยู่ที่ 773,055 TEU จาก 753,042 TEU

นอกจากนี้ กทท.มีแผนยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับโลก เพื่อเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง นำระบบ Port Community System (PCS) นำระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ มาให้บริการ

ร่วม สนข.-อมตะพัฒนา Dry Port

รวมถึงพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งร่วมศึกษากับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในพื้นที่จ.ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา (อีอีซี) รวมถึงลงนามความร่วมมือกับกลุ่มอมตะนคร ที่ได้เข้าไปลงทุน Dry Port ที่ประเทศลาว เพื่อรับสินค้าจากจีนและลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบังเป็นการต่อยอดในการเพิ่มปริมาณตู้สินค้าอีกทาง

ร่วมกทพ.ผุดทางด่วนเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ

ส่วนท่าเรือกรุงเทพมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) รองรับปริมาณตู้สินค้า 240,000 TEU/ปี

ส่วนทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วน สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ซึ่งจะหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการลงทุนต่อไป คาดว่าจะให้ กทพ.ลงทุนและจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด

แย้ม Smart Port มีดิวตี้ฟรี

สำหรับโครงการ Smart Port การพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม พื้นที่ 400 ไร่ จะแบ่งเป็น 3 โซน คือ ด้านพาณิชยกรรม ด้านบริการเรือและสินค้า ด้านอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลา 30-35 ปี แบบผสมผสาน (MIXED-USE) ริมแม่นำ้เจ้าพระยา ได้แก่ ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์กลางทางการแพทย์ โรงแรม Sport Complex ท่าเรือท่องเที่ยว และดิวตี้ฟรี