“อาคม” เดินตามรอยพ่อหลวง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมชนบท

“ปิดทองหลังพระ-ความเพียรพยายาม-ความเรียบง่าย” 3 หลักการทรงงาน ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยึดเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบในการใช้ชีวิตและทำงานบนเก้าอี้สูงสุดในชีวิต

“อาคม” เล่าว่า สิ่งแรกที่ยึดมั่นมาโดยตลอดในการทำงาน ไม่คิดเลยว่าต้องเด่นดัง แต่ขอให้งานเป็นประโยชน์ นี่คือ “การปิดทองหลังพระ” ทำงานไม่จำเป็นต้องออกหน้า ถ้าคิดว่างานที่เราทำเป็นประโยชน์ส่วนรวมอยู่เบื้องหลัง เป็นฟันเฟืองของกลไกทั้งหมด ถ้าฟันเฟืองเล็กไม่เดิน ฟันเฟืองใหญ่ก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระราชดำรัสที่บอกว่า ทุกคนมักจะปิดทองหน้าพระ ไม่ค่อยมีใครปิดทองหลังพระ แล้วพระทั้งองค์จะสวยสมบูรณ์ได้ยังไง

ขณะที่ “ความเพียรพยายาม” แม้ว่างานจะยากแค่ไหนก็ต้องทำ ได้มาจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก เมื่อเราเห็นเป้าหมาย ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกล ถ้าไม่มีความพยายามในการฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ก็ทำไม่สำเร็จ

และ “ความเรียบง่าย” ได้จากพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน สอนให้คนรู้จักประหยัด ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ท่านไม่ได้ห้ามในเศรษฐกิจพอเพียงว่าห้ามใช้เงิน ใช้ตามพอเหมาะฐานะ ไม่ใช่ว่ามีเงินเท่านี้ แต่ต้องใช้เท่าอภิมหาเศรษฐี เพราะฉะนั้น ความเรียบง่าย ชีวิตพระองค์ท่านเหมือนคนธรรมดา เราเองต้องทำตัวไม่มียศ ไม่มีศักดิ์ ทำงานให้ติดดิน

“เมื่อไม่มีพระองค์ท่าน เราจะไม่หยุด ในการสร้างทางไปยังพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ให้สะดวกและเข้าถึง นี่คือหน้าที่ของเรา เพราะในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จไปที่ไหน ท่านไม่เคยไปเส้นทางที่สะดวกสบาย ท่านเสด็จไปทางที่ทุรกันดาร ท่านกำลังชี้ทางที่หน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาให้เกิดการเดินทางที่สะดวกสบาย จึงเกิดโครงการที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทรับสนองมา เพื่อแก้ปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง”

และไม่ใช่แค่ “อาคม” ที่ใช้เป็นเครื่องนำทาง ยังส่งผ่านไปยังข้าราชการ

“สิ่งที่ผมพยายามจะบอกข้าราชการกระทรวงทุกคนว่า นี่คือภาระหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำ ให้นึกถึงประชาชน อย่าไปคิดว่าแค่ระยะทางนิดเดียว ขับเลี่ยงได้ ต้องนึกถึงประชาชนที่มองไม่เห็นเวลากลางคืน คิดถึงเวลาออกกฎระเบียบ จะคิดถึงเฉพาะตัวเองไม่ได้ ต้องคิดถึงพี่น้องประชาชน”

“อย่างเรื่องการนำร่องรถเมล์ ทำไมต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพราะพี่น้องประชาชนคนไทย ทุกคนไม่รู้อักษร ทำไมไม่ใช้ภาษาไทยแล้วกำกับภาษาอังกฤษเอาไว้ นี่คือสิ่งที่คิดถึงประชาชน ที่เราต้องคิดก่อนที่จะลงมือทำ”

การเดินตามรอยพ่อ แม้ว่าสิ่งที่ทำได้เล็กน้อยเป็น 1 ในล้าน ก็ต้องสานต่อพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เน้นในการพัฒนาประเทศ ดูแลความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนให้อยู่ดีมีสุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชนบท ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งเข้าไปถึงพี่น้องประชาชนให้ได้ และไม่ใช่สักแต่ทำ แต่ต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ สิ่งที่เห็นคืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำไมเกิดขึ้น เป็นเพราะการออกแบบหรือวินัยของคน หรือเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

พระองค์ท่านสอนไว้ว่า การเป็นพลเมืองที่ดี ต้องเคารพกฎหมาย มีระเบียบวินัย ชาติถึงจะเจริญ ต้องใช้ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าจะยากแค่ไหนในการสอนคน ให้การเรียนรู้วินัยจราจรก็ต้องทำ ถ้าสอนบอกผู้ใหญ่ไม่ได้ ต้องไปบอกเด็ก โปรแกรมที่ทำให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สร้างทางข้ามพร้อมสัญลักษณ์ด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน จะทำให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ถนนหนทางที่ถูกต้อง

ขณะเดียวกันยังคงใช้นวัตกรรมต่างๆ มาก่อสร้างถนน ที่เป็นความภาคภูมิใจ คือ การปลูกหญ้าแฝกบนถนนที่มีปัญหาดินสไลด์

รวมถึงสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อรองรับระบบดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ทำงานมากขึ้น เพราะต่อไปกระทรวงคมนาคมจะเป็นบิ๊กดาต้า

เช่น กรมการขนส่งทางบกมีข้อมูลจีพีเอส สามารถวิเคราะห์รถใครขับเร็ว กรมทางหลวงมีจีพีเอสของตัวเอง วิเคราะห์การเดินทาง ปีหน้าจะมีระบบตั๋วร่วมใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่ารถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ มอเตอร์เวย์ และทางด่วน