เช็กสต๊อกเหลือขาย 10 อสังหาฯต่างจังหวัด

ดาต้าเบส

อัพเดตตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดโดยมีจุดโฟกัสท็อป 10 “เมืองและคน” ที่มีการลงทุนพัฒนาโครงการสูงสุด

คอนเทนต์จาก “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ระบุว่า ผลสำรวจ ณ สิ้นปี 2563 มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมด 17,785 โครงการ รวม 3,191,675 หน่วย มูลค่ารวม 8,949,939 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 2.804 ล้านบาท

ส่วนใหญ่หรือสัดส่วน 74% จำนวน 2,369,251 หน่วย พัฒนาในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ตลาดต่างจังหวัดมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น และในแง่มูลค่าพบว่าตลาด กทม.-ปริมณฑลสูงถึง 6,555,888 ล้านบาท สัดส่วน 73% ของตลาดทั่วประเทศ

สำหรับตลาดต่างจังหวัด ณ สิ้นปี 2563 จังหวัดที่มีหน่วยขายมากที่สุด 10 อันดับแรก เริ่มจาก อันดับ 1 “ชลบุรี” มีหน่วยขายรอการขาย 36,013 หน่วย ราคาเฉลี่ย 2.804 ล้านบาท จาก 1,457 โครงการ รวม 252,698 หน่วย มูลค่า 708,607 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

เหตุผลเพราะชลบุรีเป็นจังหวัดหลักในภูมิภาคที่มีการพัฒนาทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ในขณะที่อีก 2 จังหวัด โซน EEC ได้แก่ “ระยอง” มีหน่วยเหลือขายอยู่ 19,585 หน่วย และอันดับ 6 “ฉะเชิงเทรา” มีหน่วยเหลือขาย 7,059 หน่วย เท่ากับโซน EEC มีหน่วยเหลือขายรวมกันถึง 62,657 หน่วย คิดเป็น 56% ของจำนวนหน่วยรอขายทั้งหมดใน 10 จังหวัด

ในอนาคตภูมิภาค EEC และ กทม.-ปริมณฑลจะเชื่อมต่อกันเป็นผืนเมือง (urban field) ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหรือในภูมิภาคอาเซียนนี้

อันดับ 3 “เชียงใหม่” มีหน่วยรอขาย 12,761 หน่วย ถือเป็นเมืองหลักที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นทั้งศูนย์การบริหารภาคเหนือ ศูนย์ท่องเที่ยว และศูนย์ธุรกิจใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

ส่วนจังหวัด “โคราช ขอนแก่น หาดใหญ่” ถือเป็นเมืองหลักในภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในอันดับรองลงมาจากเชียงใหม่

จังหวัดท่องเที่ยว “ชะอำ-หัวหิน” ซึ่งเป็นเขตเชื่อมต่อของจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ กับ “ภูเก็ต” มีหน่วยขายเหลือเป็นอันดับที่ 4 และ 7 จำนวน 8,708 หน่วย และ 6,171 หน่วยตามลำดับ ซึ่งหากไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดคาดว่าสถิติเหลือขายอาจน้อยลงกว่านี้

 

สำหรับดีเวลอปเปอร์บิ๊กแบรนด์จากเมืองกรุงที่เบนเข็มบุกลงทุนพัฒนาโครงการในตลาดต่างจังหวัด (ดูตารางประกอบ) มีข้อสังเกตว่า ในจำนวน 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าโครงการสูงสุด ณ สิ้นปี 2563 นั้น มีเพียง 3 บริษัท คือ “CPN Residence-ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้-ไอทาวน์โฮลดิ้ง” เป็นบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง

แสดงให้เห็นว่ามีโอกาสน้อยมากที่บริษัทใหม่ ๆ จะสามารถแทรกมาครองแชมป์ในตลาดต่างจังหวัดได้ เพราะต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และทุนหนาปึ้กเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างจังหวัดซึ่งถือว่าเป็นตลาดปราบเซียนในทุกยุคทุกสมัย