ภาษีที่ดินเกษตรกรรม ปลูกพืชชนิดไหน กี่ต้น ถึงเรียกว่าใช้ประโยชน์

ปลูกกล้วย ต้นกล้วย สวนกล้วย
ภาพโดย M W จาก Pixabay

ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินคงพอทราบแล้วว่า หากนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาแปลงเป็นที่ดินเกษตรกรรม จะเสียภาษีในอัตราที่ถูกลง แต่ต้องปลูกพืชและจำนวนตามเกณฑ์ที่กำหนด  

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งหมายถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม แต่ไม่รวมถึงการทำประมงหรือทอผ้า

อีกทั้งการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จะรวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพที่ดินและสิ่งที่ปลูกสร้าง หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลการผลิต และการตัดวงจรโรค โดยมีรายละเอียดชนิดของพืช พร้อมอัตราขั้นต่ำในการปลูกเพื่อประกอบการเกษตรต่อไร่ ดังนี้

  1. กล้วยหอม : 200 ต้นต่อไร่
  2. กล้วยไข่ : 200 ต้นต่อไร่
  3. กล้วยน้ำว้า : 200 ต้นต่อไร่
  4. กระท้อนเปรี้ยว : 25 ต้นต่อไร่ พันธุ์ทับทิม 25 ต้นต่อไร่ พันธุ์ปุยฝ้าย : 25 ต้นต่อไร่
  5. กาแฟ : 170 ต้นต่อไร่ ได้แก่ พันธุ์โรบัสต้า 170 ต้นต่อไร่ และพันธุ์อราบิก้า 533 ต้นต่อไร่
  6. ก้านพลู : 20 ต้นต่อไร่
  7. กระวาน : 100 ต้นต่อไร่
  8. โกโก้ : 150-170 ต้นต่อไร่
  9. ขนุน : 25 ต้นต่อไร่
  10. เงาะ : 20 ต้นต่อไร่
  11. จำปาดะ : 25 ต้นต่อไร
  12. จันทน์เทศ : 25 ต้นต่อไร่
  13. ชมพู่ : 45 ต้นต่อไร่
  14. ทุเรียน : 20 ต้นต่อไร่
  15. ท้อ : 45 ต้นต่อไร่
  16. น้อยหน่า : 170 ต้นต่อไร่
  17. นุ่น : 25 ต้นต่อไร่
  18. บ๊วย : 45 ต้นต่อไร่
  19. ปาล์มน้ำมัน : 22 ต้นต่อไร่
  20. ฝรั่ง : 45 ต้นต่อไร่
  21. พุทรา : 80 ต้นต่อไร่
  22. แพสชั่นฟรุต : 400 ต้นต่อไร่
  23. พริกไทย : 400 ต้นต่อไร่
  24. พลู : 100 ต้นต่อไร่
  25. มะม่วง : 20 ต้นต่อไร่
  26. มะพร้าวแก่ : 20 ต้นต่อไร่
  27. มะพร้าวอ่อน : 20 ต้นต่อไร่ 2 ชนิดพืช อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่
  28. มะม่วงหิมพานต์ : 45 ต้นต่อไร่
  29. มะละกอ (ยกร่อง) : 100 ต้นต่อไร่ (ไม่ยกร่อง) 175 ต้นต่อไร่
  30. มะนาว : 50 ต้นต่อไร่
  31. มะปราง : 25 ต้นต่อไร่
  32. มะขามเปรี้ยว : 25 ต้นต่อไร่
  33. มะขามหวาน : 25 ต้นต่อไร่
  34. มังคุด : 16 ต้นต่อไร่
  35. ยางพารา : 80 ต้นต่อไร่
  36. ลิ้นจี่ : 20 ต้นต่อไร่
  37. ลำไย : 20 ต้นต่อไร่
  38. ละมุด : 45 ต้นต่อไร่
  39. ลางสาด : 45 ต้นต่อไร่
  40. ลองกอง : 45 ต้นต่อไร่
  41. ส้มโอ : 45 ต้นต่อไร่
  42. ส้มเกลี้ยง : 45 ต้นต่อไร่
  43. ส้มตรา : 45 ต้นต่อไร่
  44. ส้มเขียวหวาน : 45 ต้นต่อไร่
  45. ส้มจุก : 45 ต้นต่อไร่
  46. สตรอว์เบอรี่ : 10,000 ต้นต่อไร่
  47. สาลี่ : 45 ต้นต่อไร่
  48. สะตอ : 25 ต้นต่อไร่
  49. หน่อไม้ไผ่ตง : 25 ต้นต่อไร่
  50. หมาก (ยกร่อง) : 100-170 ต้นต่อไร่
  51. พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ : 100 ต้นต่อไร่

เจ้าของที่ดินที่ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจากพืช 51 ชนิดดังกล่าว จะเสียภาษีในอัตราที่ดินในอัตราของประเภทที่ดินเกษตรกรรม โดยจะต้องปลูกให้ได้จำนวนต้นต่อไร่ตามที่กำหนดไว้ แต่หากปลูกพืชที่ไม่ได้อยู่ในชนิดดังกล่าว ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ โดยเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงได้ ให้พิจารณาตามลักษณะการประกอบการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น

ที่ดินเกษตรกรรมเสียภาษีเท่าไร

สำหรับอัตราการเสียภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่ดินที่ใช้สำหรับการทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด มีกำหนดเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.15% โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ที่ดินมูลค่า 0–75 ล้านบาท อัตรา 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100–500 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 500–1,000 ล้านบาท อัตรา 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียภาษีเท่าไร

ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ยกเว้นมีกฎหมายห้ามหรือทิ้งไว้เพื่อการเกษตรหรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ มีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 1.2% แต่จะปรับเพิ่มอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตรารวมไม่เกิน 3% โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ที่ดิน มูลค่า 0–50 ล้านบาท อัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท
  • ที่ดิน มูลค่า 50–200 ล้านบาท อัตรา 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท
  • ที่ดิน มูลค่า 200–1,000 ล้านบาท อัตรา 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท
  • ที่ดิน มูลค่า 1,000–5,000 ล้านบาท อัตรา 0.6% หรือล้านละ 6,000 บาท
  • ที่ดิน มูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.7% หรือล้านละ 7,000 บาท

เทียบอัตราภาษีที่ดินเกษตรกรรม-ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

หากนำเพดานภาษีสูงสุดของที่ดินเกษตรกรรมที่ 0.15% มาเทียบกับอัตราเพดานของที่ดินรกร้างว่าเปล่าที่ 1.2% จะพบว่ามีอัตราห่างกัน 1.05%

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 มีมติให้คงอัตราภาษีแบบเดิมไปอีก 2 ปี คือ ปี 2565-2566 เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019