กางหมุดหมาย ”ตลาดต้องชม” กรมการค้าภายใน กลับบ้านปีใหม่ 2566 ไปเที่ยวตลาดไหนดี…?

กางหมุด

“ปีใหม่นี้ไปเที่ยวไหนดี..?” เชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนคิดอยู่ในใจว่าช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ปีนี้ (2566) จะวางแผนไปท่องเที่ยวไหนกัน หลายคนอาจกลับบ้านต่างจังหวัด ไปหาพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ขอพรปีใหม่ จากญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์รวมญาติตามธรรมเนียม ขณะจำนวนไม่น้อยอยากเดินทางไปท่องเที่ยว พักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว หลังกรากกรำงานมาทั้งปี

คำถามนี้มีคำตอบ เมื่อ ”วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ชวนเที่ยวปีใหม่ ชวนไทยเที่ยวไทย ช้อปผลิตภัณฑ์ สินค้าฝีมือคนไทย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านโครงการ ”ตลาดต้องชม”

เป็นตลาดที่มีทั้ง ”เอกลักษณ์พาณิชย์” และ ”อัตลักษณ์ชุมชน” เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น สินค้าพื้นเมืองเด่น มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จำหนายในราคาที่เป็นธรรม เป็นแหล่งรวม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีพื้นบ้าน ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นอายท้องถิ่นที่ชัดเจนบ่งบอกถึงที่มาของชุมชนนั้น ๆ เป็นอย่างดี

“ตลาดไหนที่พอมีศักยภาพก็อยากให้ช่วยเจียระไนให้เป็นที่ขายสินค้าพื้นเมือง โอท๊อป เป็นตลาดท่องเที่ยวให้กับชาวไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคยให้สัมภาษณ์ถึงตลาดต้องชม เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจตลาดพ่อตาหินช้าง อ.ท่าแซะ  จ.ชุมพร ปลายเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

“ตลาดต้องชม” จึงเป็นนโยบายส่งเสริมการตลาดในประเทศที่สำคัญของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการขับเคลื่อนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจระดับฐานราก จากจุดเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2559 จนถึงวันนี้มีการขยายจำนวนตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอยู่ในทุกมุมเมือง ทุกจังหวัดทั่วไทย จำนวนมากถึง 238 แห่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปไปสัมผัส

จากทั้งหมด 238 แห่งทั่วไทย กรมการค้าภายในคัดเลือกมา 180 แห่งที่มีศักยภาพ พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วที่ที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว พร้อมกิจกรรมกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากมาย ได้แก่ ภาคเหนือ  41 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 แห่ง ภาคกลาง 61 แห่ง ภาคใต้ 28  แห่งและกรุงเทพฯ 6 แห่ง

เริ่มต้นด้วยตลาดในเมืองหลวง กรุงเทพมหานครสำหรับผู้คนที่ไม่ชอบเดินทางไกล มีตลาดต้องชมให้เดินเที่ยว 6 แห่งน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดพลู ถิ่นขนมช่ายเจ้าดัง,ตลาดคลองบางหลวง, ตลาดนางเลิ้ง, ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน, ตลาดคลองลัดมะยมและตลาดน้ำวัดพระยาสุเรนท์  โดยแต่ละตลาดจะมีไฮไลท์สำคัญและมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

ขยับจากกรุงเทพฯออกมาหน่อยจะเป็นตลาดต้องชมใกล้กรุง ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดแถบปริมณฑล อาทิ ตลาดน้ำไทรน้อย จ.นนทบุรี  ตลาดน้ำลำพญา จ.นครปฐม ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการหรือ ตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร

ส่วนใครเดินทางไกลกลับบ้านหรือท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ไม่ว่าจะแอ่วเหนือ ล่องใต้หรือท่องอีสานผ่านจังหวัดต่าง ๆ ยังมีตลาดต้องชมให้แวะชิม ชม ช้อป ไว้ตลอดเส้นทาง  เริ่มกันที่เส้นทางขึ้นเหนือ ถ.พหลโยธิน จากกรุงเทพฯผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา แวะ ”ตลาดวัดหลวงปู่ทวด” ไหว้สักการะรูปปั้นหลวงปู่ทวดเพื่อเป็นสิริมงคล ผ่าน จ.อ่างทองต้องแวะ ”ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” อ.วิเศษไชยชาญ ดูศาลเจ้าอิงศิลปะจีนที่งดงามเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน

จากนั้นเข้าสู่จ.สิงห์บุรี มีของดีผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแม่ลาและสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อที่ ”ตลาดชุมชนบ้านพิกุลทอง” ก่อนสู่เมืองปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์แวะพักรับประทานอาหารที่ ”ตลาดท่าเรือคลองคาง” ตลาดแห่งนี้มีอาหารและขนมอร่อยหลายอย่าง เช่น ขนมครกไส้แตก หมึกย่างท่าเรือ ไอศกรีมโอ่ง ฯลฯ

จากปากน้ำโพนครสวรรค์มุ่งหน้าสู่ ”ตลาดเก่าวังกรด” ตลาดสดริมแม่น้ำน่าน จ.พิจิตร เป็นชุมชนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภายในมีนิทรรศการและการจัดแสดงของใช้โบราณเพื่อสะท้อนความเป็นมาของตลาดและวิถีชุมชนแห่งนี้ ขึ้นเหนือไปไม่ไกลจะเป็น ”ตลาด 120 ปีวิถีชาววัง”  แหล่งสินค้าโอท็อปแปรรูปจากกล้วยและขนมเปี๊ยะรสเลิศของเมืองสองแควจ.พิษณุโลก

จากสองแควสู่เมืองแพร่ต้องแวะที่ ”กาดเมกฮิม” คือ เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ในชมุชนริมน้ำบริเวณรอบคูเมืองมีกำแพงเก่าแก่มากกว่า 1,000 ปีและเป็นที่ประดิษฐ์สถานพระพุทธรูปน้ำออกเศียร ซึ่งมีเพียง 3 รูปในประเทศไทย ก่อนเดินทางสู่เมืองน่านสัมผัสวิถีคนน่านผ่าน ”กาดข่วงเมืองน่าน” บริเวณถนนคนเดินวัดภูมินทร์ เป็นตลาดที่มีกลิ่นอายล้านนา มีสินค้าเด่น เช่น ผ้าทอลายโบราณและเครื่องเงิน

ลงจากดอยเมืองน่านผ่านมาทางเชียงใหม่แวะ ”ตลาดจริงใจ” อาหารปลอดภัยในตัวเมือง เน้นพืชผักอินทรีย์ผลิตจากยอดดอยสู่ผู้บริโภคคนเมือง

จากเหนือมาสู่อีสานใครผ่านจ.ขอนแก่นต้องไม่พลาด ”ตลาดริมทางไก่ย่างเขาสวนกลาง” เมนูดังแห่งเมืองแก่นนคร  ส่วนใครนิยมชมชอบผ้าทอมือต้องไม่พลาด ”ตลาดผ้าบ้านนาข่า” แหล่งรวมผ้าทอมือหลากหลายของ จ.อุดรธานีแล้วมาปักหมุดที่ ”ตลาดถนนคนเดินวีถีคนเชียงคาน” จ.เลย ว่ากันว่ามาเชียงคานทั้งทีต้องพักค้างคืนบ้านไม้เก่าริมโขงชีวิตจะได้ฟิน

จากอีสานเหนือมาสู่อีสานใต้ พลาดไม่ได้ ”ตลาดคนเดินเซราะกราว” จ.บุรีรัมย์ แหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านเด่นของจังหวัด  แต่ถ้าใครชอบผ้าไหมต้นตำรับต้องมาที่ ”ตลาดผ้าไหมบ้านท่าสว่าง” จ.สุรินทร์ หมู่บ้านเก่าแก่และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อป (OTOP) เพื่อการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหมแห่งเดียวของประเทศ

จากสุรินทร์มุ่งหน้าตามหาแสงแรกแห่งวันที่ จ.อุบลราชธานี แล้วมาเดินลัดเลาะริมโขงที่ ”ตลาดถนนคนเดินเขมราษฎร์ธานี” ที่สะท้อนวิถีชีวิตคนริมฝั่งโขง แล้วมากราบสักการะพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นศรัทธาเลื่อมใสของคนสองฝั่งโขง

จากอีสานล่องใต้พลาดไม่ได้ ”ตลาดพ่อตาหินช้าง” จ.ชุมพร แหล่งแปรูปผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนางขึ้นชื่อติดไม้ติดมือกลับบ้าน หากผ่านพังงาจะต้องแวะ ”ถนนวัฒนธรรมตลาดเก่าตะกั่วป่า” แหล่งผลิตแร่ดีบุกยุครุ่งเรืองในอดีต ยังคงหลงเหลือบ้านพักอาศัยสไตล์ชิโนโปรตุเกสให้ได้เห็น และวัฒนธรรมการแต่งกายของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในแบบฉบับของชาวเมืองตะกั่วป่า

เลียบฝั่งอันดามันจากพังงามาสู่ จ.ภูเก็ตที่ ”ถนนคนเดินหลาดใหญ่” ตลาดนัดสุดเก๋ย่านตลาดเก่าภูเก็ต ชมพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกของ จ.ภูเก็ต ลงมาทางกระบี่ ตรัง ผ่านมายังพัทลุงห้ามพลาด ”ตลาดใต้โหนด” ตลาดที่มีอัตลักษณ์ด้านชุมชนสีเขียว สินค้าสีเขียว ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างจะต้องผลิตจากธรรมชาติ  ยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่ขายจะไม่มีถุงพลาสติกไว้บริการ ลูกค้าจะต้องนำถุงผ้าหรือภาชนะใส่สินค้าไปเอง

จากพัทลุงมาสงขลาจะต้องแวะ ”ตลาดน้ำคลองแห” ตลาดน้ำชื่อดังที่จำลองวิถีดั้งเดิมการทำมาค้าขายทางน้ำของชาวบ้านคลองแหในอดีต มีขนมพื้นเมืองและอาหารปักษ์ใต้หลากหลายไว้บริการ ด้วยภาชนะใส่อาหารด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นตลาดน้ำเชิงวัฒนธรรมของชาวเมืองสงขลา

จาก จ.สงขลาลงมายัง 3 จังหวัดชายแดนใต้สุดปลายด้ามขวานที่จ.ยะลา ”ตลาดนัดชุมชนบ้านคลองทรายใน” ริมถนนสาย 418 ยะลา-ปัตตานี ทางผ่านเสมือนจุดพักรถที่มีหลักกิโลเมตรใหญ่ที่สุดของจังหวัดตั้งเด่นเป็นสง่า มีผลิตภัณฑ์เด่นเป็นที่รู้จักในนาม ”ไก่กอและ” และสุดท้ายปลายทางที่ ”ตลาดยะกัง ขนม 100 ปี” จ.นราธิวาส กับตำนานความอร่อยขนมโบราณที่ขอบอกคำเดียวว่าเด็ด เต็มไปด้วยขนมพื้นบ้านสูตรโบราณหายากมากมาย อาทิ ขนมบาตาบูโระ ขนมปูตูฮาลือบอ ขนมจูโจ ขนมเจ๊ะแมะ นาซิดาแฆ นาซิกายอ เป็นต้น

นี่เป็นส่วนหนึ่ง ”ตลาดต้องชม” จากทั้งหมด 180  แห่งทั่วไทยที่เปิดตลาดรับวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ระหว่าง 24 ธ.ค. 65 ถึง 8 ม.ค. 66 นี้  โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เชิญชวนทุกคนได้ไปสัมผัส !

ผู้สนใจสามารถติตดามรายละเอียดกิจกรรมของตลาดได้ที่เว็บไซต์ : www.dit.go.th  Line Official “DIT GO” และ Facebook “กรมการค้าภายใน DIT”