สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดตัวคณะอนุกรรมการชุดใหม่การค้าไทยจีน

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

พร้อมเดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์ เตรียมรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เปิดตัวคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ TSC Trade (Thai–South China  Trade)รวมพลังจากหลายภาคส่วนธุรกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว และภาคธุรกิจการเงิน พร้อมทำงานร่วมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจีนต้อนใต้

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ TSC Trade ชุดใหม่ โดยมี นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร เป็นประธานอนุกรรมการ  นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ และนางสาวพรทิพย์ สุวรรณ์ เป็นรองประธาน และกรรมการจากธุรกิจหลายภาคส่วน พร้อมที่จะนำทัพคืบการเชื่อมโยง การลงทุนการค้าไทยจีน อย่างเต็มสูบ

ทางคณะอนุกรรม TSC Trade ได้จัดการประชุมสามัญร่วมกัน ครั้งที่ 1 และจัดเลี้ยงต้อนรับคณะอนุกรรมการชุดใหม่ โดยได้รับเกียรติจากคุณจาง เซี่ยเซี่ย (Ms. Zhang Xiaoxiao) อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าสถานทูตจีน (Counselor, Economic and Commercial Office of Chinese Embassy) มาร่วมงาน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ณ ห้องสินธูนาวี 3 ราชนาวีสโมสร ที่ผ่านมา

นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร ประธานคณะคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ กล่าวในงานเลี้ยงเปิดตัวคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนชุดใหม่ ณ ราชนาวีสโมสร  ว่า ปัจจุบันประเทศจีนกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตก (GO West Policy) เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างภาคตะวันออกที่มั่งคั่งกับภาคตะวันตกที่ยากจน และมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างไทยและจีนเป็นจุดเริ่มต้น และได้กำหนดให้มหานครฉงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภาคกลางกับภาคตะวันตกของจีน

และให้มณฑลยูนานเป็นเมืองหน้าด่านของจีนภาคตะวันตกที่จะให้มุ่งหน้าลงใต้เชื่อมโยงกับไทย นอกจากนี้ยังมีมณฑลเสฉวนและเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลที่โดดเด่นและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สนใจร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยในการเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะสร้างความร่วมมือกับจีนในหลากหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อจะเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูล ปัญหา อุปสรรคทางการค้า การลงทุน และด้านต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ และเชื่อมโยง ส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ชุดใหม่นี้ จะมาจากหลายภาคส่วนธุรกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งนอกจากตัวผมที่เป็นประธานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ก็ยังมีนักธุรกิจคนสำคัญ และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายจากหลายภาคส่วน ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงาน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าด้วยชื่อเสียง และประสบการณ์ด้านธุรกิจของคณะกรรมการแต่ละท่านในชุดนี้ จะทำให้เราสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจของไทย” นายเชาว์ชัย เจียมวิจิตร กล่าว

ทางด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร สถาบัน TDRI และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยและประเทศจีนมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันอย่างสูงทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว  ประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของไทยรองจากสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนและวัตถุดิบ  ในปีนี้เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ประเทศ เนื่องจากโควิด-19 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีนี้ประมาณการว่าอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสูงที่สุดในหมู่เศรษฐกิจใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศจีนก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆในโลก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนจีนเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสทางธุรกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนยังมีอีกมาก และมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตในเรื่องของการค้า ทั้งสินค้าและบริการ การลงทุนในประเทศไทย และการท่องเที่ยวของคนจีนในประเทศไทย

นายฉัตรชัย เล่งอี้ อนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์กล่าวว่า แผนงานที่คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ จะขับเคลื่อนในเบื้องต้นนี้ จะเน้นการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารการตลาด เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ เพื่อเน้นการสื่อสารให้ประชาชนได้รู้จักการค้า การลงทุน ระหว่างไทยและจีนเพิ่มมากขึ้น โดยจะสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประชาชนของแต่ละประเทศให้ความนิยม เช่น WeChat  โต่วอิน เสี่ยวหงซู เวยป๋อ และโถวเถี่ยว ของจีน ในขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะใช้สื่อสารกับคนไทย คือ YouTube และ TikTok เป็นหลัก ร่วมกับการจัดทำเว็บไชต์ 3 ภาษา คือ www.thai-southchina.com