กว่า 4 ทศวรรษ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมเกษตรยั่งยืน สู่ความสำเร็จ “3 หมู่บ้านเกษตรกรรม”

กว่า 4 ทศวรรษ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมเกษตรยั่งยืน

ความยากจนและไร้โอกาสของเกษตรกรไทย คือโจทย์ที่ยากที่สุดในประเทศ เรื่องนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้เข้ามาแก้โจทย์ ผ่าน “โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรม” ทั้ง 3 แห่ง ด้วยการพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้ง รกร้าง มาพัฒนาให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งให้ความรู้ที่ทันสมัยในการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการเพาะปลูก จัดหาแหล่งเงินทุน ลดความเสี่ยงตลาดผันผวนโดยเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร จนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง มีที่ดินเป็นของตัวเอง ลูกหลานมีอนาคตทางการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

สมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า เครือซีพีและซีพีเอฟ มุ่งยกระดับภาคเกษตรไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันสู่ ‘เกษตรยั่งยืน’ โดยมุ่งสนับสนุนอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย ผ่านการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบ “หมู่บ้านเกษตรกรรม” มาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการแก่เกษตรกร ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทมาประยุกต์ใช้โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ ผสานกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาสู่สังคมพึ่งพาตนเองได้ นับจาก โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และต่อยอดสู่ โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

“ความสำเร็จของหมู่บ้านเกษตรกรรม ทั้ง 3 แห่ง ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรกว่า 140 ราย และครอบครัว มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ที่แน่นอน ปีละกว่า 6 แสนบาท ถึงมากกว่า 1 ล้านบาทต่อครอบครัว ตามประเภทสุกร ปริมาณการผลิต และอาชีพเสริมของแต่ละคน ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สืบทอดอาชีพสู่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น และเดินหน้าสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม พร้อมส่งเสริมการจ้างงานในชุมชนช่วยกระจายรายได้ และบริษัทยังร่วมกับเกษตรกรพัฒนาชุมชน ให้เข้มแข็ง นำไปสู่สังคมที่พึ่งพาตนเองได้ พร้อมต่อยอด

สู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามนโยบายฟาร์มสีเขียว (green farm) ด้วยการพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นป่านิเวศ เพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างอย่างมีความสุข สอดคล้องกับกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่” นายสมพร กล่าว

สำหรับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2520 ถือเป็นต้นแบบเกษตรผสมผสานยั่งยืน ด้วยแนวคิด 4 ประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร โดยการพลิกฟื้นผืนดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล จำนวน 1,253 ไร่ มาจัดรูปที่ดินใหม่ แบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ พร้อมสร้างบ้านพัก 1 หลัง และโรงเรือนเลี้ยงสุกร 1 หลัง ให้แก่เกษตรกร 50 ครอบครัว ที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพหลัก และประกอบอาชีพเสริม จากเริ่มต้นเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณปีละ 960,000 – 1,800,000 บาทต่อครอบครัว และกลายเป็นชุมชนเลี้ยงสุกรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุกคนมีที่ดิน มีทรัพย์สิน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบุตรหลานมีโอกาสได้ศึกษาในระดับสูง และเกษตรกรยังมุ่งจัดการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการป่าเชิงนิเวศเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

ส่วนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 ด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ด้วยการจัดสรรพื้นที่ดินกว่า 4,000 ไร่ สู่การเกษตรผสมผสานแบบทันสมัย โดยนำแนวคิด 4 ประสานมาใช้ เพื่อให้เกษตรกร 64 ครอบครัว ได้ร่วมกันพัฒนาอาชีพ นำหลักวิชาการทางการเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมเครื่องจักรกล และระบบการจัดการครบวงจรมาใช้ ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 81 ราย มีรายได้จากการเลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุน ซึ่งเป็นอาชีพหลักประมาณ 600,000 – 1,800,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี และมีรายได้จากอาชีพเสริม ราว 60,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมุ่งดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน

หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพตำรวจและคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ เครือซีพีและซีพีเอฟ จึงริเริ่มโครงการฯ ในปี 2549 ด้วยการจัดสรรที่ดินกว่า 230 ไร่ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสัตว์แก่ข้าราชการตำรวจ 31 ราย และครอบครัวเพื่อให้มีรายได้เสริมและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพหลักที่มีซีพีเอฟเข้าไปบริหารจัดการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี และมีอาชีพเสริมอื่นๆ ตามความถนัด ปัจจุบันบริหารจัดการในรูปแบบ “บริษัท หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ จำกัด” ถือหุ้นโดยข้าราชการตำรวจทั้ง 31 ราย และเมื่อปี 2561 ทุกครอบครัวได้รับมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว

ความสำเร็จในอาชีพอย่างไร้ความเสี่ยงของเกษตรกร มากว่า 4 ทศวรรษ คือสะท้อนความมุ่งมั่นของซีพีและซีพีเอฟ ในการพัฒนาภาคเกษตร ด้วยการผลักดันให้เกษตรกรประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน