7 ปี กับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ยกระดับงานออกแบบ ทำให้เมืองดีขึ้น

7 ปี กับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ยกระดับงานออกแบบ ทำให้เมืองดีขึ้น

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ที่ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  ในช่วงวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ กับกิจกรรมกว่า 600 โปรแกรม จบลงพร้อมความยิ่งใหญ่ที่นอกจากจะสร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในแต่ละพื้นที่ ยังสามารถยกระดับงานออกแบบเพื่อทำให้เมืองนั้นดีขึ้น 

‘เทศกาลฯ’ คือ ‘แพลตฟอร์ม’ พัฒนาเมืองด้วยงานออกแบบที่ไม่มีเส้นชัย

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ มีเป้าหมายในการเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่พัฒนา ‘ผู้คน ธุรกิจ ย่านและเมืองสร้างสรรค์’ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของเมืองในมิติต่าง ๆ พร้อมเติมเต็มบรรยากาศของกรุงเทพฯ ให้มีสีสัน อีกทั้งยังเปิดเวทีให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่บนพื้นที่จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ โอกาสการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และภาคการผลิตจริง (Real Sector) ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 1,948 ล้านบาท โดยกระจายรายได้สู่พื้นที่จัดงานและผู้ร่วมจัดงานทุกภาคส่วน โดยมีผู้เยี่ยมชมงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 300,000 คน ซึ่งปีล่าสุด (2567) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างเทศกาลฯ ไม่น้อยกว่า 1,250.2 ล้านบาท และผู้เข้าร่วมงาน 409,445 คน

ซึ่งในแต่ละปี  เทศกาลฯ ได้สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพฯ ผ่านธีมงานและโปรแกรมต่าง ๆ ตามสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยสร้างผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและสังคม โดยเริ่มต้นจากการใช้พื้นที่ในย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย เป็นแห่งแรก ในปี 2561 และขยายสู่ 15 ย่านในช่วงเวลาแค่ 7 ปี ดังนั้นงาน Bangkok Design Week จึงไม่ได้ไม่จำกัดการจัดงานไว้ที่ย่านใดย่านหนึ่ง ถือเป็นงานที่เปรียบเสมือนการวิ่ง ‘มาราธอน’ ที่ไม่มีเส้นชัย ที่มีการทดลองและทดสอบไอเดียใหม่ ๆ ให้กรุงเทพฯ ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ

อีกทั้ง การพัฒนาเมืองยังต้อง ร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (BMA) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการพัฒนา ‘เมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  ฉะนั้น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงมีเป้าหมายที่จะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนหลังจบเทศกาล ที่ไม่ใช่เพียงอีเวนต์ที่จัดแล้วจบไป หากแต่จุดประกายให้ผู้คนและย่านเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อในระยะยาว

‘เทศกาลฯ’ ออกแบบ เพื่อใคร?

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้กรุงเทพฯด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative CityNetwork) สาขาการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562 ดังนั้น ‘เทศกาลฯ’ จึงเป็นของทุกคนที่ต้องการทำให้ ‘กรุงเทพฯ’ เป็นเมืองที่ทั้ง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ผ่านการออกแบบใน 4 มิติ ไม่ว่าจะเป็น

‘เทศกาลฯ’ ช่วยปลุกชีวิตพื้นที่ทิ้งร้าง ไม่ได้ถูกใช้งาน และถูกปล่อยละเลย ทั้งของภาครัฐและเอกชน นำไปใช้ปรับปรุงพื้นที่และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

เทศกาลฯ’ ออกแบบ ให้ ‘คน’ เชื่อมต่อกัน เพื่อเป็นพื้นที่สื่อกลางที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลาย ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ รวมทั้งผู้คนที่ใช้ชีวิตในย่าน ให้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำไอเดียเหล่านั้นไปใช้แก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างคุณค่าให้ย่าน และทำให้ย่านต่าง ๆ 

– ‘เทศกาลฯ’ ออกแบบ ‘เมือง’ ให้ ‘น่าอยู่’ ขึ้น ผ่านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายได้ง่ายขึ้น โดยใช้โอกาสของเทศกาลฯ ชักชวนผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยนำไอเดียจากทุกฝ่ายมาสร้างเป็นโมเดลทดลองและพัฒนาต่อ

– ‘เทศกาลฯ’ ฟื้นฟูภูมิปัญญาใกล้สูญหาย กลับมาเข้าถึงง่าย โดยการดึงดูดความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำความรู้จักมรดกทางวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหายไปตามกาลเวลากลับมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง 

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จบแล้วไปไหนต่อ?

หลายคนสงสัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ว่าผลงานออกแบบที่ถูกจัดแสดงตลอด 9 วันในเทศกาลฯ นั้น จะถูกนำไปต่อยอดกับเมืองอย่างไรได้บ้าง ?  สำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ปีนี้ มาพร้อมโจทย์ที่ท้าทายอย่าง ‘HACK BKK’ ซึ่ง CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักออกแบบ/นักสร้างสรรค์ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและพัฒนากับทาง Bangkok City Lab ของกรุงเทพมหานคร โดยมีหลายผลงานที่น่าสนใจด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 

โปรเจกต์การออกแบบพื้นที่นั่งสาธารณะ (Public Furniture) เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองผ่านสวนเคลื่อนย้ายได้ พร้อมเฟอร์นเจอร์ที่ปรับได้ตามลักษณะพื้นที่ที่แตกต่าง 

– โปรเจกต์ Go Go Bus!’ การออกแบบและพัฒนาขนส่งระดับย่าน (Public Transportation) ที่เป็นบริการเดินรถไฟฟ้าขนาด 20 ที่นั่ง เชื่อมย่านเมืองเก่าจากเจริญกรุง – เยาวราช – พระนคร – นางเลิ้ง – ปากคลองตลาด ยลดการใช้รถยนต์ในเขตเมืองเก่าที่มีที่จอดรถจำกัดและช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด 

-ระบบป้ายนำทางจักรยาน โดย conscious เป็นการทดลองต้นแบบเส้นทางจักรยาน จุดจอดจักรยาน และระบบป้ายนำทางในการสัญจร ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีทั้งจากผู้ที่นำจักรยานมาเองและผู้ที่ใช้ Bike Sharing ที่กรุงเทพมหานครกำลังจะติดตั้ง โดยข้อคิดเห็นที่ได้จากแบบประเมินจะถูกนำไปต่อยอดเพื่อเสนอให้มีการติดตั้งระบบจริงในอนาคต

– การทดลองใช้งานพื้นที่สาธารณะ  ศูนย์มิตรเมือง(Urban Ally) ได้ทำการทดลองทำพื้นที่สาธารณะ โดยใช้ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) มาเปลี่ยนจากพื้นที่ ‘ราชการ’ เป็นพื้นที่ ‘พลเมือง’ ในเวลานอกราชการ จากนโยบายการย้ายสำนักงานศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากเสาชิงช้าไปยังที่ทำการดินแดง เพื่อสร้างให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายในการนั่งเล่นพักผ่อนและสันทนาการ 

– การออกแบบบ้านนกบ้านกระรอก โดยกลุ่ม A49 & Friends ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของวัฏจักรแห่งสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ทั้งต้นไม้ซึ่งเป็นที่อยู่ของนก กระรอก หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ ในซอยสุขุมวิท 26 กรุงเทพฯ รวมถึงทำสนามเดินเล่นแบบถอดประกอบได้ ให้เป็นสวนที่เด็กๆ สามารถปีนป่ายหรือเดินเล่น ทั้งยังนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นได้

– การออกแบบที่พักคอย อันได้แก่ ย่านพร้อมพงษ์ บริเวณซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ A49 & Friends และการพัฒนาป้ายบอกคิวใช้บริการที่วินมอเตอร์ไซค์ คลองบางบัว โดย Bangkok City Lab โดยปรับปรุงจุดพักคอยผู้ขับและผู้ใช้เพื่อความสะดวกและสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม

– โครงการยกระดับธุรกิจดั้งเดิม อย่าง ย่านหัวลำโพง ‘Made in Hua Lamphong’ โดย CEA และ RTUS-BANGKOK ริทัศน์บางกอก ที่ต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมและงานช่างฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านงานออกแบบในชุมชนย่านหัวลำโพง เช่น ร้านทำร่ม ศิลป์เมือง ที่ร่วมกับ ease studio ออกแบบเพิ่มฟังก์ชันให้เป็นที่นั่งที่ช่วยถ่วงน้ำหนักขาตั้งของร่ม 

– การทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก (Public Space) อย่าง ‘Puppup Space’ (ปุ๊บปั๊บสเปซ) เป็นตัวอย่างของการทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กบนพื้นที่จอดรถ 2 – 3 ช่อง ภายใต้แนวคิด ‘การคืนพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า’ โดยการเปลี่ยนพื้นที่ของรถให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะชั่วคราวสำหรับการพักผ่อน 

-อัณฑะเหมียวครองเมือง โดย จรจัดสรร นิทรรศการงานศิลปะเพื่อจัดการปัญหาน้องแมวจร ที่นอกจากจะสร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นในการทำหมันเพื่อคุมกำเนิดจำนวนประชากรเหมียวแล้ว ยังสามารถระดมทุนและช่วยหาบ้านอุปการะให้กับน้องแมวได้อีกหลายตัว นับเป็นรูปแบบกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครสามารถนำไปส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ได้

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด ทุกภาคส่วนมาร่วมกันประกอบสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่’ กว่าที่เคย พร้อมกับกลุ่มผู้ขับเคลื่อนทั้ง 15 ย่าน 1) เจริญกรุง –ตลาดน้อย นักออกแบบ/นักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ 2) พระนคร โดยผู้ขับเคลื่อน ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) กลุ่มนักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ 3) ปากคลองตลาด โดยผู้ขับเคลื่อน Human of Flower Market by Arch SU และมนุษย์ปากคลองฯ 4) นางเลิ้ง โดยผู้ขับเคลื่อน Urban Studies lab และ Community Lab ชุมชนในย่านนางเลิ้ง 5) เยาวราช โดยผู้ขับเคลื่อน SATARANA (สาธารณะ) และชุมชนคนในพื้นที่ 6) หัวลำโพง โดยผู้ขับเคลื่อน RTUS-Bangkok (ริทัศน์บางกอก) 7) อารีย์ – ประดิพัทธ์ โดยผู้ขับเคลื่อน AriAround 8) บางโพ – เกียกกาย โดยผู้ขับเคลื่อน Bangpho Wood Street และ Creative Soul Studio 9) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู โดยผู้ขับเคลื่อน คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 10) เกษตรฯ – บางบัว โดยผู้ขับเคลื่อน คณะก่อการย่านเกษตร SC ASSET และมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) 11) พร้อมพงษ์ โดยผู้ขับเคลื่อน A49 & Friends 12) สยาม – ราชเทวี โดยผู้ขับเคลื่อน สถาบันอาศรมศิลป์ เครือข่ายนักพัฒนาเมืองและชุมชนบ้านครัว 13) บางกอกใหญ่ – วังเดิม โดยผู้ขับเคลื่อน บริษัท ครอส แอนด์ เฟรนด์ จำกัด และยังธน 14) พระโขนง – บางนา โดยผู้ขับเคลื่อน South Sukhumvit และ 15) บางมด โดยกลุ่มผู้ขับเคลื่อนย่านบางมด

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้คือผู้สนับสนุนเทศกาลฯ ไม่ว่าจะเป็นเอพี ไทยแลนด์ (AP Thailand), เซ็นทรัลพัฒนา x เซ็นทรัลเวิลด์ (CPN x centralwOrld), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (KRUNGSRI), แอล.พี.เอ็น. (LPN), วัน แบงค็อก (One Bangkok), เอสซี แอสเสท (SC ASSET), เอปสัน (ประเทศไทย) (EPSON), ไปรษณีย์ไทย, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล (CENTRAL), ฮาตาริ (HATARI), กลุ่มสยามพิวรรธน์ (SIAM PIWAT), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) และซีแพค กรีน โซลูชั่น (CPAC) และพันธมิตรของ CEA ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA),บริษัท อรุณพลัส จำกัด, ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์, บจก. ทีวีบูรพา และ Media Partner ของ CEA ในฐานะแพลตฟอร์มทางความคิดสร้างสรรค์และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจ มาร่วมพัฒนาและขับเคลื่อน “กรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองในแบบที่เราต้องการใช้ชีวิตไปด้วยกัน ทั้งยังหวังว่าวลีคุ้นหู ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว’ จะกลายเป็นจริงได้สักวันหนึ่งในอนาคต 

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com, Facebook/Instagram: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek #BKKDW2024 #BangkokDesignWeek 

 

#BKKDW2024 #BangkokDesignWeek