เร่งยกระดับงานราชทัณฑ์

เร่งยกระดับงานราชทัณฑ์

สหการณ์’ เร่งยกระดับงานราชทัณฑ์ เดินหน้าแก้ปัญหาคนล้นคุก มุ่งสร้างคนดีคืนสังคม

ปัจจุบัน ไทยมีผู้ต้องขังที่ถูกจองจำอยู่มากถึง 284,000 คน กระจายอยู่ตามเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ โดยมี กรมราชทัณฑ์ หน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลเรือนจำและผู้ต้องขังจากคดีต่างๆ

กรมราชทัณฑ์ มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมและแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อแก้ไขหรือฟื้นฟูผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลให้กลับตนเป็นพลเมืองดี มีสุขภาพกายและจิตที่ดี ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ควบคู่กับการพัฒนาพฤตินิสัยและทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพที่สุจริต เมื่อออกไปสามารถดำรงชีวิตในสังคมภายนอกได้

กรมราชทัณฑ์ ภายใต้การดำเนินงานของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน จึงเดินหน้ามุ่งแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ควบคู่ไปกับการพัฒนามนุษย์ให้คืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพด้วยการเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

นายสหการณ์ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญาหลายอย่าง อาจด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่เน้นโทษจำคุกเป็นเป้าหมายสำคัญ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีนักโทษหลั่งไหลเข้ามาในเรือนจำเป็นจำนวนมาก แต่ทราบหรือไม่ แท้จริงแล้วผู้ต้องขังในเรือนจำไม่ได้มีสถานะเป็นนักโทษทั้งหมด แม้ส่วนใหญ่จะถูกตัดสินให้จำคุกหรือรอการประหารชีวิต แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ต้องขังระหว่างการดำเนินคดีและสู้คดี ที่ถูกขังเพราะไม่ได้รับการประกันตัว และยังมีผู้ต้องกักขังและกักกันชั่วคราว เพราะบางคนไม่มีเงินจ่ายโทษปรับ เหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมคุกไทยถึงคนล้น

บางช่วงเวลาเราเคยมีผู้ต้องขังสูงเกือบ 400,000 คน เรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่งเต็มไปด้วยความแออัดยัดเยียด ผู้ต้องขังล้นเกินกว่าพื้นที่จะรับได้ ปัญหาตามมาคือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้บางครั้งเกิดอันตรายหรือเกิดเหตุร้ายในเรือนจำได้ง่าย

“เมื่อจำนวนนักโทษที่เพิ่มมากขึ้น แค่ดูแลเรื่องกินอยู่หลับนอน ดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็ว่ายากลำบากแล้ว ถ้าจะถามว่าจะไปแก้ไขบำบัดเขาอย่างไรก็ยิ่งเป็นโจทย์ที่ยากไปใหญ่ ดังนั้นที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์จึงมีความพยายามที่จะลดการใช้โทษจำคุกหลากหลายแนวทางเพื่อจะแบ่งเบาความแออัดต่างๆ ทำให้บางครั้งสังคมเกิดคำถาม ว่าสิ่งที่กรมราชทัณฑ์ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นการก้าวล่วงคำพิพากษาหรือเปล่า

“กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่าเราดำเนินการอยู่ในกรอบตาม ‘หลักนิติธรรม’ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมและอำนวยประโยชน์สุขให้กับประชาชนในสังคมอย่างเสมอภาค ด้วยความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยกระบวนการบริหารโทษที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักอาชญาวิทยา จะช่วยให้ภารกิจในการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์มีความชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรมต่อผู้กระทำผิดทุกคน สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดพัฒนาพฤตินิสัยและกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ อันจะนำไปสู่การสร้างการรับรู้ต่อคนในสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในภารกิจการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์”

และเพื่อยกระดับการปฏิวัติงานราชทัณฑ์ให้มีความเป็นสากลและเกิดประโยชน์สูงสุด นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ได้วางนโยบายการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ไว้ 8 มิติด้วยกัน

มิติที่ 1 การดำเนินการโครงการพระราชทานอย่างต่อเนื่อง, มิติที่ 2 ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในเรือนจำและสถานที่คุมขัง, มิติที่ 3 พัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักทัณฑวิทยา, มิติที่ 4 พัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขผู้ต้องขังให้ตรงกับปัญหาของการกระทำความผิด, มิติที่ 5 พัฒนาและต่อยอดการศึกษา การฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน, มิติที่ 6 พัฒนาระบบเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและช่วยเหลือหลังพ้นโทษ, มิติที่ 7 ยกระดับการสร้างการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และมิติที่ 8 พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนงานราชทัณฑ์ สู่เป้าหมายของการ ‘คืนคนดีสู่สังคม’ ไม่กระทำผิดซ้ำ ดำรงชีวิตปกติสุข

เหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในระหว่างต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เขาเหล่านั้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขเมื่อพ้นโทษ รวมทั้งระหว่างต้องโทษได้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ผ่านกระบวนการต่างๆ ดังนี้

การจัดการศึกษา ให้กับผู้ต้องขัง ทั้งสายสามัญ สายวิชาชีพ ระดับอุดมศึกษา ทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงให้มีการเรียนโดยใช้หลักศาสนาให้เหมาะสมในการปรับเปลี่ยน แก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยให้มีความพร้อมก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมภายนอก

การฝึกวิชาชีพ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ต้องขัง มุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังมีงานทำระหว่างต้องโทษ หรือหลังพ้นโทษโดยกรมราชทัณฑ์มีนโยบายให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ดำเนินการจัดอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังมีทักษะความรู้ ประสบการณ์ มีแนวทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและสามารถอยู่ร่วมกับสังคมภายหลังพ้นโทษได้

นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ ยังมีโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังตามลักษณะแห่งคดีและพฤติการณ์การกระทำผิด เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่มุ่งเน้นเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังแต่ละคนอย่างเหมาะสมตามลักษณะสาเหตุ พฤติกรรม และประเภทของการกระทำผิด การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ผ่านกระบวนการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรื่องส่วนตัว เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและชุมชน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ภายหลังพ้นโทษ ไปจนถึงการสงเคราะห์หลังปล่อย เป็นมาตรการที่สำคัญที่จะสามารถช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมและสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข และป้องกันการหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยกรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ ที่จะคอยช่วยเหลือให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพ มีงานทำ สามารถช่วยเหลือตนเองไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำ นั้นมาจากสภาพแวดล้อมสังคมที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ หรือแม้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจน ปัญหาครอบครัว ซึ่งภาพใหญ่เหล่านี้ผมคิดว่ารัฐบาล หน่วยงานต่างๆ กำลังพยายามแก้ไขที่จะลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ให้โอกาสกับคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้มีรายได้ มีชีวิตอย่างมีความสุข

“เราเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้ของกรมราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การฝึกอาชีพ และการเตรียมความพร้อมต่างๆ จะทำให้คนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคม สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ แค่นั้นยังไม่พอสังคมต้องให้โอกาส ถ้าเขายืนได้แบบนี้โอกาสผิดซ้ำมันแทบจะไม่มีหรือมีน้อยมาก ถ้าเราร่วมกันดูแลผมมั่นใจว่าคนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีคุณภาพได้อย่างแน่นอน ตามที่เราตั้งปณิธานไว้ว่า ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปิดท้าย