ปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบ…ของหน่วยงานด้านความมั่นคง

ปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบ…ของหน่วยงานด้านความมั่นคง

ในช่วงประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมา มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับ “ทหารและกองทัพ” ออกมามากขึ้น ทำให้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆมากขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพดูแย่ในสายตาประชาชน 

ในทางกลับกัน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม มองว่า การมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับทหารออกมาเยอะขึ้นถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่า กองทัพในยุคของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เปิดช่องทางต่างๆให้ถูกตรวจสอบได้ ไม่พยายามปกปิดหรือซ่อนปัญหาภายในเอาไว้  ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่ทหารชั้นผู้น้อยกล้าร้องเรียนให้เกิดการตรวจสอบมากขึ้น  

“ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 จนมาถึงช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะไม่ค่อยมีข่าวเสียหายเกี่ยวกับทหารออกมา เพราะคุณไม่สามารถด่ากองทัพได้ 

 แต่หลังจากมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 มาจนถึงปี 2566 เมื่อมีข่าวในด้านลบของบุคลากรในกองทัพออกมา รัฐมนตรีกลาโหมก็ต้องชี้แจง หรือโฆษกก็ต้องชี้แจง ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมมากแล้ว” 

โฆษกกระทรวงกลาโหม ย้ำว่า บรรยากาศที่เปลี่ยนไปในกองทัพ เกิดขึ้นเพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เลือกนายสุทิน คลังแสง เป็น “พลเรือนคนแรก” ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อกองทัพเปิดกว้างให้ถูกตรวจสอบจากสังคมภายนอกได้มากขึ้น ก็จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมที่จะตามมาด้วย  โดยเฉพาะการใช้ “ศาลทหาร” ซึ่งอาจถูกมองได้ว่า มีความพยายามปกป้องกันเองในกลุ่มทหาร 

“ผมยังไม่เคยเห็นกรณีที่ไปขึ้นศาลทหารแล้วได้รับความช่วยเหลือจากนาย เพราะมีกระบวนการทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเทียบได้กับเป็นระบบอัยการที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้เด็กนายที่ถูกอ้างถึงก็จะจำนนต่อหลักฐาน ไม่มีความสามารถถึงขนาดที่จะไปควบคุมองค์คณะตุลาการของศาลทหารได้ และการขึ้นศาลทหาร มักจะถูกลงโทษหนักกว่าการขึ้นศาลพลเรือนด้วยซ้ำ เพราะนอกจากโทษทางอาญา ยังมีทั้งโทษทางวินัย ถูกปรับลดเงินเดือน หรืออาจถึงขั้นไล่ออก ส่วนคนที่พยายามจะช่วยเหลือ ก็จะต้องมีความผิดไปด้วย” 

โฆษกกระทรวงกลาโหม อธิบายเพิ่มเติมโดยย้อนไปชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมี “ศาลทหาร” เกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและยุคสงครามอินโดจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสภาพปัญหามากมายเกิดขึ้นในการควบคุมกำลังพลของกองทัพ จึงต้องมีศาลทหารขึ้นมาพิจารณาให้ความเป็นธรรมในคดีที่เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมขึ้นระหว่างทหารด้วยกันเอง ปัญหาที่เกิดจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงการมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างทหารกับพลเรือน ซึ่งยืนยันได้ว่า แม้จะนำคดีขึ้นสู่ศาลทหาร แต่ก็สามารถให้ความเป็นธรรมกับพลเรือนที่เป็นคู่ขัดแย้งได้ 

นายจิรายุ เน้นย้ำว่า ทุกอาชีพย่อมมีคนที่ไม่ดีแฝงตัวอยู่ แต่หากคิดเป็นอัตราส่วนจากทหารทั้งหมด 4-5 แสนนาย คงจะมีคนไม่ดีอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำชับให้กองทัพมีกลไกที่เข้มแข็งในการตรวจสอบและลงโทษทหารที่ทำความผิด หากมีใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือก็จะต้องถูกลงโทษอย่างหนักไปด้วยเช่นกัน