ด้วยพระราชปณิธาน-น้ำพระทัย ชุบชีวิตผ้าไทยจากลายขอเจ้าฟ้า มาสู่ลายขิต คุณภาพชีวิตคนไทยที่ดีขึ้น

“จากพระราชปณิธานของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงทุ่มเทพระวรกาย ยกระดับผ้าไทย จนทำให้คุณภาพชีวิตของคนอีกจำนวนมากหลายล้านครอบครัวดีขึ้น และได้รักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ดำรงคงอยู่คู่กับแผ่นดิน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยถึงผลสำเร็จและความอยู่ดีกินดีของพี่น้องวงการผ้าไทย

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า จากการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตัวกระผมเองในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 มา และเคยมีโอกาสได้เห็นและสนองงานพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เป็นความสำเร็จที่ผมอยากจะกราบเรียนก็คือ มีปรากฏการณ์ความนิยมผ้าไทยเกิดขึ้นสูงมากและที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยได้น้อมนำเอาพระราชดำริไปขับเคลื่อน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเองในการผลิตผ้าขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการมีรายได้เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่า ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2564 จนถึงตอนนี้ก็ยังทอและผลิตไม่ทัน รวมทั้งผ้าบาติกด้วย ดังสังเกตได้ หากพวกเรากดเข้าไปดูในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะพบว่ามีความต้องการจำนวนมาก

สิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำอย่างมาก ดังที่ทรงอยากจะสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมา นั่นก็คือ การผลิตงานที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น งานคราฟท์ งานที่ทำด้วยมือ เพราะท่านทรงเป็นห่วงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่หาคนสืบทอดได้ยาก เนื่องจากเป็นงานละเอียดใช้ความสามารถมาก พระองค์ท่านทรงทุ่มเทพระวรกาย สืบสาน รักษา และต่อยอด มาจนถึงครั้งนี้ พระองค์ทรงพระราชทานแบบลายผ้าลายใหม่ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา ทีอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เราจึงอยาก ให้พี่น้องคนเฒ่าคนแก่หรือลูกหลาน ได้สืบทอดภูมิปัญญา ให้เขาได้ทำและรักษาไว้ เนื่องจากการผลิตผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลา หรือในงานบางเทคนิคก็ผลิตกับนานนับเดือน ซึ่งมีคุณค่าสูงมาก

ปลัด มท. ระบุด้วยว่า ในแง่ของข้อมูลที่สำรวจมา พบว่า ณ ปัจจุบันวงการผ้าไทยทั้งหมดสามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะงานฝีมือ ผมเองได้เดินทางไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พี่น้องในชนบท หรือกระทั่งในเมืองในหลายจังหวัด เขาบอกว่าเขารอดตายและยังอยู่ได้เพราะ ลายขอเจ้าฟ้าฯ ที่ทรงเคยพระราชทานให้
ผมเองเลยยืนยันได้เลยว่าไม่เคยมั่นใจขนาดนี้มาก่อน เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับรู้รับทราบด้วยตาของตัวเอง เห็นคนใส่ผ้าไทยกันเยอะขึ้น และเห็นว่าเวลาลงพื้นที่ มีชาวบ้านมากอดมาเจอกันก็มาเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น เปรียบเสมือนกำลังใจให้พระองค์ท่านทรงทุ่มเท เพื่อเป็นแรงใจในการสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน มาจนถึงลายใหม่ที่ทรงพระราชทานให้ที่จังหวัดนครพนม จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า พวกเรามั่นใจได้ว่าพระองค์ท่านจะดูแลคนไทยให้มีความอบอุ่นให้มีกำลังใจ ในการรักษาสิ่งดี ๆ ของบรรพบุรุษเราไว้และใช้เป็นเครื่องมือ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อนำไปสู่สากลให้ได้ เป็นไปตามแนวพระราชดำริ โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก

ส่วนในเรื่องความนิยมจะลดน้อยลงหรือไม่ ผมมั่นใจมากว่าถ้าพวกเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของประเทศ หน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ถ้าทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลว่าที่ให้การสวมใส่ไม่ใช่เป็นเรื่องของชาตินิยม แล้วก็ไม่ได้ปฏิเสธความทันสมัย แต่เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังของงานนี้คือยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีกจำนวนมากหลายล้านครอบครัว และเป็นงานที่จะช่วยทำให้ ภูมิปัญญาผ้าไทย ดำรงคงอยู่คู่กับแผ่นดินไปตราบนานเท่านาน เพราะฉะนั้น เราโชคดีว่าสิ่งที่เป็น ภูมิปัญญาผ้าไทยแบบดั้งเดิมหรือ Original ได้รับพระกรุณาธิคุณ จากพระองค์ท่าน ในการนำสิ่งที่มีความเป็นสมัยใหม่ เข้ามาด้วย ถือว่าเป็นการผสมผสาน ทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตชีวา เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือการใช้เป็นเครื่องมือในการใช้เป็น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไร่ชาวนาในชนบท และผู้คนที่มีความรักในผ้าไทย ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ศิลปาชีพ เมื่อกว่า 50 ปีก่อน เพราะพระองค์ท่านได้เคยทรง เสด็จไปช่วยพี่น้องชาวไทยที่ประสบสาธารณภัยน้ำท่วม ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ทรงเสด็จมาที่ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
ที่เดียวกันนี้ พระองค์ทรงเห็นชาวบ้าน ใส่ผ้าซิ่นมาเฝ้ารับเสด็จ

ถ้าพวกเรามีโอกาสได้ลองไปอ่านประวัติของศูนย์ศิลปาชีพ จะพบว่า พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริ ที่จะหาทางช่วยชาวบ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ชาวบ้านอาศัยน้ำฝนทำไร่ทำนา พอฝนเลิกก็จบกัน ปีไหนน้ำมากก็อด เนื่องจากน้ำท่วม พืชผลไร่นาก็เสียหายไปหมด พอน้ำแล้ง ก็ไม่มีจะกิน ต้นข้าวก็ตาย ประการสำคัญคือชาวบ้านไม่มีเงินทองที่จะส่งเสริมให้ลูกหลานร่ำเรียนมีการศึกษาที่ดี หรือกระทั่งเงินในการไปโรงพยาบาลก็ไม่มี ซึ่งวิถีชีวิตชาวบ้าน ในอดีตเขาจะเก็บผ้าไว้ เนื่องจากมีคุณค่าต่อชีวิตและจิตใจ ถ้าเราไปหาผ้าไทยดี ๆ ของชาวบ้าน ในยุคสมัยนั้นไม่มีร้านขายผ้า เราจะพบว่าในร้านขายข้าวสารจะมีผ้าไทยอยู่ สาเหตุเพราะว่าชาวบ้านไม่มีข้าวกรอกหม้อ จึงจะเอาผ้าไหมไปแลกกับข้าวมา พวกเขาไม่เอาไปขายเอาไปแลกไว้ คือ ผ้าไหมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทอย่างยิ่งยวด พี่น้องชาวบ้านจะทอผ้าด้วยมือของเขาเอง เขาจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายด้วยตัวเขาเองเขา เขาจะเก็บไว้ในโอกาสสำคัญของชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัว เช่นให้ลูกชายได้บวช ให้ลูกสาวแต่งงาน ให้ตัวเองได้ตัดชุดทำบุญ และเมื่อพระองค์ท่านทรงรับรู้ จึงทรงมีพระราชดำริขึ้นมาว่า จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของการที่ส่งเสริมให้สตรี และชาวบ้านที่ทอผ้า รวมกลุ่มกัน

ดังนั้น ความสำเร็จจากลายขอเจ้าฟ้าฯ มาถึง ลายขิตฯ เราก็จะพบคำตอบว่าทำไม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ท่านทรงเสด็จไปที่ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ก็เพราะพระองค์ท่านทรงให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าจะช่วยทรงงานหนักเพื่อสืบสานรักษาและต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือ สมเด็จย่าของพระองค์ท่าน เพราะจุดนี้เป็นจุดแรก ที่สมเด็จพระพันปีหลวงท่านทรงไปจุดประกายผ้าไทย ในการที่จะรักษาภูมิปัญญาและใช้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และคนที่อยู่ในรุ่นนั้นก็ยังคงมีชีวิตอยู่ ป้ายก็ยังเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นศูนย์ทอผ้าไหมแห่งแรก พระองค์ท่านจึงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อทำให้พี่น้องคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น