‘กรุงเทพประกันภัย’ ชู ESG ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ได้เป็นผลจากการถูกดิสรัปชั่น ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่โรคอุบัติใหม่อย่างโควิดก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังทั่วโลก เกือบทุกธุรกิจต่างต้องเผชิญกับความเสียหายจากวิกฤตโควิด แต่อีกมุมก็สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศเชิงธุรกิจได้หลากหลายมิติ แนวคิดของ ESG  จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยบนพื้นฐานที่ว่า การดำเนินธุรกิจเกิดขึ้นบนโลก และไม่ได้อยู่แบบโดดเดี่ยว แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคม

โดยความหมายของการพัฒนาแบบ ESG นั้น ประกอบไปด้วย ‘Environmental’ หรือสิ่งแวดล้อม หมายถึง การเน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ เช่น การปล่อยมลพิษ ปัญหาขยะ ฯลฯ ‘Social’ หรือการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เช่น ด้านสวัสดิการ สุขภาพ สิทธิมนุษยชน รวมถึงดูแลความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ตั้งแต่พนักงานของบริษัทไปจนถึงลูกค้า ชุมชน และห่วงโซ่อุปทาน และ ‘Governance’ หรือการเป็น    บรรษัทภิบาลที่มีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางธุรกิจ ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส  เป็นธรรม รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต่อต้านการทุจริต การดำเนินงานจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ ตลอดจนดูแลผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสีย

พร้อมพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความสำคัญอย่างมากต่อบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน เพราะสร้างความน่าเชื่อถือ สะท้อนถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

หนึ่งในองค์กรธุรกิจระดับแถวหน้าของไทย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BKI’ ก็ได้ออกประกาศนโยบายด้านการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ ESG มาอย่างต่อเนื่อง

Advertisment

เริ่มจาก ‘มิติสิ่งแวดล้อม’ มีบริการกรมธรรม์ประกันภัยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Policy ที่อำนวยความสะดวกลูกค้าในการจัดเก็บหรือดูข้อมูลต่างๆ ของกรมธรรม์ประกันภัยผ่านมือถือ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดโลกร้อนไปในตัวเพราะลดใช้กระดาษ มีการจัดส่งกรมธรรม์แบบซอฟต์ไฟล์ทางอีเมล

ลดการใช้พลังงานจากโครงการเปลี่ยนระบบปรับอากาศภายในอาคาร ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า และจัดทำโครงการซ่อมแซมอุปกรณ์ Heat Exchanger ในระบบระบายอากาศของสำนักงานใหญ่ ลดอุณหภูมิภายนอกก่อนเข้าอาคาร ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา อาคารสำนักงานใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 7.37 พร้อมทั้งยังได้จับมือกับ คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ในโครงการแยกขยะพลาสติก เปลี่ยนเป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง สำหรับทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และร่วมกับ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จัดโครงการ SCGP Recycle นำกระดาษเก่าไปแลกกระดาษใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะลง และโครงการ Bhappy ภายใต้ความร่วมมือกับ 3 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพประกันชีวิต และไอโออิ กรุงเทพประกันภัย เพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่าชายเลน และสร้างฝาย เป็นต้น

ในแง่ ‘มิติสังคม’ มีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม นอกจากยึดปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยังใส่ใจดูแลและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การสนับสนุนทุนการศึกษาในหลักสูตรด้านการประกันภัยกับสถาบันวิชาชีพ จนถึงมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อให้พนักงานนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisment

กรุงเทพประกันภัยดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จัดโครงการมอบทุนการศึกษา ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมชาวบ้านจังหวัดมุกดาหารและสกลนคร และร่วมมือกับมูลนิธิกรุงเทพประกันภัย และมูลนิธิชัย-นุชนารถ โสภณพนิช มอบเงินทำบุญทอดกฐินสามัคคีเพื่อโรงพยาบาลสนามธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ

ในช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนัก ก็ได้มอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน และเตียงผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด อีกทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล

สุดท้ายคือ ‘มิติเศรษฐกิจ’ เริ่มจากการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใสมีการบริหารจัดการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และช่วงสถานการณ์โควิดได้อำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางการเคลมประกันภัยโควิด ออกมาตรการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย พร้อมดำเนินมาตรการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลบัตรเครดิต สอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลบัตรเครดิต PCI-DSS จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงทำให้กรุงเทพประกันภัยได้รับการจัดอันดับและรางวัลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2564 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โดยบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับ ‘ดีเลิศ’ (Excellent) อีกทั้งยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย ประจำปี 2564 จากคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมจรรยาบรรณ หอการค้าไทย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ‘กรุงเทพประกันภัย’ มุ่งมั่นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 75 ปี และจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการเป็นผู้นำในธุรกิจประกันวินาศภัยที่มั่นคงแข็งแกร่ง ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ