ภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยโรคเบาหวาน

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม 
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เป็นโรคเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั่วร่างกาย ดังนี้

1.แบบเฉียบพลัน เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงต้องรีบรักษา เช่น หมดสติจากน้ำตาลที่สูงมากหรือภาวะเลือดเป็นกรด

2.แบบเรื้อรัง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ที่พบบ่อยคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเส้นเลือดในสมอง เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคหัวใจในอนาคต ทั้งเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองตีบ

3.ทางตา พบได้มากในผู้ป่วยที่คุมน้ำตาลไม่ได้จนส่งผลกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาและเกิดภาวะสูญเสียการมองเห็น จอประสาทตาบวม หรือจอประสาทตาหลุด

4.ทางไต ไตจะทำงานหนักขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดที่ไต รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเนื้อไตโดยตรงด้วย และนำไปสู่การมีโปรตีนในปัสสาวะและภาวะไตวาย

5.ทางระบบประสาท มีการอักเสบของเส้นประสาท สาเหตุน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเลือดและทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท

เส้นประสาทส่วนปลาย ที่มีความผิดปกติมากที่สุดในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการชาเหมือนเป็นเหน็บ เพราะสูญเสียประสาทรับความรู้สึกบริเวณเท้าทั้ง 2 ข้าง และอาจมีอาการปวดเส้นประสาทบ่อย

เส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง เช่น เส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบนใบหน้าจนอาจส่งผลให้หลับตาไม่สนิท หรือเส้นประสาทที่กล้ามเนื้อตาจะมีอาการกลอกตาไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน ระบบประสาทอัตโนมัติอาจมีความผิดปกติของเส้นประสาทที่จะไปเลี้ยงระบบต่าง ๆ เช่น ควบคุมความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ มีอาการหน้ามืดคล้ายเป็นลม

ความเชื่อผิด ๆ ที่มักถูกเข้าใจผิดว่า โรคเบาหวานรักษาหายขาดได้ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้สนิท แต่สามารถทำให้อาการของโรคสงบลงได้ โดยคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่ต้องรับประทานยา ด้วยการปรับพฤติกรรมและลดน้ำหนัก

ส่วนใหญ่คนเป็นโรคนี้ต้องรับประทานยาควบคุมระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง การหยุดยาเองจะทำให้ระดับน้ำตาลกลับมาขึ้นสูง ร่างกายแปรปรวน ดังนั้นต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ ตรวจระดับน้ำตาลเป็นประจำ ติดตามผลต่อเนื่อง

วิธีการรักษา ต้องควบคุมอาหาร จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ของหวาน แป้ง ขนมปัง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และใช้ยา หากผู้ป่วยไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดจากการคุมน้ำหนักต้องใช้ยาตามแพทย์สั่ง เพื่อไม่ให้มีผลต่อตับหรือไต

เบาหวาน อาจมีสัญญาณเตือน เช่น ปัสสาวะผิดปกติ น้ำหนักลงไม่มีสาเหตุ ตาพร่ามัว หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ควรตรวจสุขภาพกับแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง แม้โรคเบาหวานจะรักษาหายขาดไม่ได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้