มะเร็งกระเพาะอาหาร: สาเหตุ การป้องกัน และการรักษา

มะเร็งกระเพาะอาหาร: สาเหตุ การป้องกัน และการรักษา

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ผศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย 

มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบบ่อย ดังนั้น คอลัมน์ “สุขภาพดีกับรามาฯ” ครั้งแรกนี้ ทางรามาฯจึงขอพาทำความรู้จักทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ การป้องกันและการรักษาเจ้ามะเร็งชนิดนี้กัน

สาเหตุ

มะเร็งกระเพาะอาหาร มีหลายลักษณะ ทั้งเยื่อบุกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร และมะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น

1.การติดเชื้อ เอช. ไพโลไร (H. Pylori) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะแบบชนิดที่ไม่รุนแรง

2.การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง การกินอาหารบางอย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารที่กระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งได้

3.มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็งจิสต์ (GIST) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ของกระเพาะอาหารเอง ไม่มีสาเหตุในการกระตุ้นอย่างชัดเจน

อาการ

อาการเริ่มแรกของมะเร็งกระเพาะอาหาร จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ นอกจากอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการท้องอืด จุก แน่นท้อง ซึ่งคนไข้มักจะขาดการใส่ใจคิดว่าเป็นแค่โรคกระเพาะ ก็เลยไม่ได้รับการตรวจ จนมีอาการมากขึ้นถึงขนาดอาเจียนเป็นเลือด กินไม่ได้ น้ำหนักลดลงเยอะ แล้วค่อยมารับการตรวจ ทำให้เราขาดการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกไป

โดยทั่วไป ถ้ามีการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เราต้องแยกก่อนว่าเป็นชนิดไหน ถ้าเป็นมะเร็งของเยื่อบุกระเพาะอาหาร เราตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ดูการแพร่กระจายว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหนหรือไม่ ถ้าไม่มี จะแนะนำให้คนไข้รักษาด้วยการผ่าตัดเพราะเป็นความหวังเดียวที่จะรักษาให้หายขาดได้

ถ้าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร ต้องดูตามระยะว่าเป็นระยะไหน โดยส่วนใหญ่มักจะได้รับยาเคมีบำบัด ก็จะช่วยได้เยอะ

ถ้าเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและไม่มีการแพร่กระจาย การผ่าตัดจะทำให้หายขาดได้ ส่วนยาเคมีบำบัดในมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มักจะไม่ค่อยได้ผล มะเร็งชนิดนี้จะตอบสนองได้

ค่อนข้างดีกับยาพุ่งเป้า ซึ่งมักจะมีราคาแพง ถ้าให้แล้วมันจะยุบลง ค่อนข้างดี แต่ยาพุ่งเป้าเหล่านี้ จะใช้ได้ช่วงประมาณ 1-2 ปี หลังจากนั้นมะเร็งจะปรับตัวเพื่อต่อต้านกับยา เราอาจจะต้องเพิ่มปริมาณยาหรือเปลี่ยนชนิดของยาไปเรื่อย ๆ

มีคนไข้รายหนึ่งมาด้วยเรื่องกินแล้วจุก แน่นท้อง ไปตรวจพบว่ามีก้อนอยู่ที่บริเวณกระเพาะอาหาร ก้อนมีขนาดใหญ่ เราได้รับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น ก็พบว่าตัวก้อนใหญ่ประมาณเกือบ 6 เซนติเมตร แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่อื่น ลักษณะนี้น่าจะเป็นมะเร็งจิสต์ รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งถ้าลักษณะก้อนเนื้อไม่จำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ แค่ตัดเอาก้อนออกก็เพียงพอ คนไข้เลือกวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ทำให้การเจ็บปวดน้อยลง ก็สามารถตัดมะเร็งออกได้

การป้องกัน

เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารในกรณีที่เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ไม่มีวิธีการป้องกันอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่มักแนะนำการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่รักษาได้ถ้าเราเจอในระยะแรก

ที่สำคัญ คือ ต้องพยายามกำจัดปัจจัยเสี่ยง เช่น อาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารเค็ม อาหารปิ้งย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะเชื้อโรค เอช. ไพโลไร (H. Pylori) อันนี้เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ การตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องซึ่งทำได้ง่ายมาก ถ้าคนไข้ไม่แน่ใจ ควรจะได้รับการส่องกล้องไว้ก่อน หากมีความประสงค์จะตรวจรักษาติดต่อได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ชั้น 1 อาคาร 1 โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกวันจันทร์เวลา 09.00-12.00 น.

—————–

หมายเหตุ : ผศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย ผู้เชี่ยวชาญวุฒิบัตร ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา สาขาวิชาทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล