โรคฝีดาษวานร อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ

ผู้เขียน : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด 
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะนี้มีการระบาดของโรคฝีดาษลิงกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก และมีผู้ติดหลายร้อยคนในทวีปแอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ มาทำความรู้จักกับโรคฝีดาษวานรกัน

โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง คล้ายกับฝีดาษ หรือไข้ทรพิษในคน มีการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสาธารณรัฐคองโก ในแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ. 2511 โดยเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์สู่คน ก่อนหน้านี้มักพบในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตกและช่วงกลางเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในปี 2546 มีการแพร่ในสหรัฐอเมริกาจากการนำสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กแพรี่ด็อกที่ติดเชื้อเข้ามาและแพร่กระจายในหมู่ผู้เลี้ยงสัตว์เพียง 50 กว่าราย

และหลังจากนั้น ปี 2561 พบว่ามีการติดจากนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกันที่มาเยือนทวีปยุโรปนาน ๆ ครั้ง โดยระยะ 4 ปีนี้พบมากขึ้นในแอฟริกา แต่ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่แพร่กระจายเป็นหย่อม ๆ ทั่วโลกในลักษณะนี้โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับทั้ง 2 เพศ ปัจจุบันเป็นที่จับตาว่าระบาดเพิ่มมากขึ้นจนกระจายทั่วโลกอีกหรือไม่

การติดเชื้อมี 2 แบบ

1.การติดเชื้อแบบปฐมภูมิ คือ การติดจากสัตว์สู่คน เกิดจากลิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายลิง เป็นสัตว์ที่มีเชื้อเหล่านี้ได้ในธรรมชาติมากที่สุด แต่อาจติดมายังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนูพุก แพรี่ด็อก ที่คนนิยมนำมาเลี้ยงในบ้านได้

สามารถแพร่สู่คนโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งผ่านทางตาหรือปาก ทางการหายใจในระยะประชิดผ่านทางจมูก และการเข้าโดยตรงทางผิวหนังผ่านแผลหรือเยื่อบุต่าง ๆ ได้

2.การติดเชื้อแบบทุติยภูมิ คือ การติดจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลเปิดจากผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง หรือใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีรายการที่แพร่จากมารดาที่ตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

โรคฝีดาษวานรแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

1.ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการ ช่วง 5-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ

2.ระยะไข้ 1-4 วัน โดยมีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต

3.ระยะผื่น 2-4 สัปดาห์ โดยจะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย

4.ระยะฟื้นตัว หลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

โดยสามารถแยกโรคที่คล้ายคลึงกัน คือ อีสุกอีใสและหัด ได้ดังนี้

โรคฝีดาษวานร

มีไข้ประมาณ 1-3 วันก่อนมีผื่น ลักษณะผื่น มีผื่นขึ้นช้า ๆ มีผื่นหลายแบบ แต่มักเป็นระยะผื่นเดียวในเวลาเดียวกัน พบมากที่หน้าและแขนขา รวมทั้งที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าด้วย พบอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้บ่อย อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 6-11 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

โรคอีสุกอีใส

มีไข้ประมาณ 1-2 วันก่อนมีผื่น ลักษณะผื่น มักมีผื่นขึ้นรวดเร็ว และหลายระยะผื่นในเวลาเดียวกัน มักเป็นที่กลางลำตัว ไม่พบบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่พบอาการต่อมน้ำเหลืองโต และไม่พบอัตราการเสียชีวิต

โรคหัด

มีไข้ประมาณ 3-5 วันก่อนมีผื่น ลักษณะผื่น มักมีผื่นขึ้นรวดเร็ว และหลายระยะผื่นในเวลาเดียวกัน มักพบที่หน้าแล้วค่อย ๆ กระจายออกไปที่บริเวณมือและเท้า พบอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้บ้าง และอัตราการเสียชีวิตต่ำ

โรคฝีดาษวานรยังไม่ได้มีการยืนยันว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่มักพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกันและสัมผัสสารคัดหลั่งอาจมีอาการผิดปกติได้ โดยเฉพาะหากสัมผัสที่อวัยวะเพศ ทำให้เกิดผื่นจนอาจทำให้เจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศได้ ทำให้อาจมีความสับสนกับโรคเริม หรือแผลริมอ่อนได้อีกด้วย

โดยสรุปแล้ว เราควรจับตาดูการระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด ขอเน้นย้ำว่าโอกาสที่โรคนี้จะแพร่กระจายไปแบบโรคโควิด-19 นั้นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะเชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายได้ยากกว่า แต่หากสงสัยฝีดาษลิง ในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม ให้กักตัวถึง 21 วัน

และการมีโรคระบาดนี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยเฉพาะในระยะที่ทั่วโลกกำลังวางแผนปลดล็อกโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นในขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565)