เริ่มแล้ว! มหรสพสมโภชยิ่งใหญ่ตระการตา นักแสดง 3,084 คน ขับกล่อมทั้งคืน ทีวีถ่ายทอดสดครบทุกรายการ

เวลา 20.20 น. มหรสพสมโภชงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มการแสดงรายการแรกคือการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ส่วนรายการแสดงอื่น ๆ กำลังจะเริ่มตามมาเร็ว ๆ นี้

การแสดงมหรสพสมโภชในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพญ ใช้นักแสดงรวม 3,084 คน แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่

1.การแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม จัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ใช้ผู้แสดงจากสำนักการสังกีต กรมศิลปากร นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศทั้ง 12 แห่ง

2.การแสดงมหรสพนอกราชวัตร บนเวทีด้านทิศเหนือสนามหลวงที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ การแสดงส่วนนี้มี 3 เวที แต่ละเวทีมีการแสดงดังนี้

เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ เป็นการแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก ตามจารีตการแสดงที่มีมาแต่โบราณ ดำเนินเรื่องตั้งแต่พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามจนถึงพระรามรพทศกัณฐ์ และได้รับชัยชนะ

ผู้แสดงประกอบด้วย นาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวน 1,020 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน รวม 1,120 คน และการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปะชีพประมาณ 200-300 คน เป็นการเฉพาะกิจ

เวทีที่ 2 การแสดงละคร เรื่องพระมหาชนก, อิเหนา, มโนราห์ การแสดงหุ่นหลวง หุ่นกระบอก การแสดงละครเป็นการแสดงตามจารีตที่เคยปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ แต่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทละคร คือเพิ่มเติมการแสดงละครในเรื่องอิเหนา เนื่องจากเป็นละครที่เกิดในเขตพระราชฐาน เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาที่คุณและมีพระอัจฉริยภาพในด้านวรรณศิลป์ จึงได้กำหนดจัดการแสดงละครเรื่องพระมหาชนก ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน โดยกรมศิลปากรได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำมาจัดทำเป็นบทละครสำหรับการแสดงตั้งแต่พ.ศ. 2540

ละครเรื่องมโนราห์ เป็นการแสดงละครที่กรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 มีความสอดคล้องกับการแสดงบัลเล่ต์เรื่องมโนราห์ในเวทีที่ 3 ที่นำมาบรรเลงขับร้องและแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์เรื่องมโนราห์

ส่วนการแสดงหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก เป็นมหรสพสมโภชที่จัดแสดงมาตั้งแต่โบราณเช่นกัน

เวทีนี้ใช้ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คนและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน รวม 422 คน

เวทีที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากลและการแสดงบัลเล่ต์เรื่องมโนห์รา เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัย และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดงแต่ละองก์ ทั้งหมด 7 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์ องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย องก์ที่ 7 สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน

บรรเลง ขับร้อง และผู้แสดง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Royal Bangkok Symphony Orchestra ใช้ผู้บรรเลงขับร้องและผู้แสดง 753 คน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 189 คน รวม 942 คน

การแสดงในแต่ละเวทีจะแสดงพร้อมกันไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 27 ตุลาคม โดยจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

ทั้งนี้พื้นที่ในสนามหลวงไม่สามารถรับประชาชนได้แล้ว ประชาชนสามารถชมการถ่ายทอดสดการแสดงมหรสพทางโทรทัศน์ตลอดทั้งคืน โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แบ่งกลุ่มการถ่ายทอดสดดังนี้

กลุ่มที่ 1 ถ่ายทอดสดการแสดงดนตรีสากลและบัลเล่ต์ ช่อง NBT เป็นแม่ข่าย สถานีรับสัญญาณประกอบด้วย ช่อง 7, ช่อง 8, ช่องโมโนทีวี, ช่อง ONE, ช่อง GMM25 และช่องไบร์ททีวี

กลุ่มที่ 2 ถ่ายทอดสดการแสดงโขนและหนังใหญ่ ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี และช่อง ททบ.5 เป็นแม่ข่าย สถานีรับสัญญาณประกอบด้วย ช่อง TGN, ช่อง TNN24, ช่องสปริงนิวส์, ช่องวอยซ์ทีวี, ช่องเนชั่นทีวี, ช่องอมรินทร์ทีวี และช่อง PPTV

กลุ่มที่ 3 ถ่ายทอดสดการแสดงหุ่นและละครใน ช่อง 3 เป็นแม่ข่าย สถานีรับสัญญาณประกอบด้วย ช่องไทยพีบีเอส, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่องนิวทีวี, ช่องเวิร์คพอยท์, ช่อง NOW26, ช่อง TRUE4U และช่องสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา