เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่งวชิราวุธวิทยาลัย จากรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน

ประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง วชิราวุธวิทยาลัย

เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง วชิราวุธวิทยาลัย ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลปัจจุบัน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานประกาศนียบัตร ทุนการศึกษา และรางวัลแก่นักเรียน และบุคลากรวชิราวุธวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 – 2564 ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พระราชทานพระราชวโรกาสให้บุคลากรใหม่จำนวน 35 รายเข้าเฝ้าฯ ถวายตัว จากนั้นพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 – 2564 จำนวน 168 ราย พระราชทานรางวัลเรียนดีและทุนการศึกษาแก่นักเรียนจำนวน 81 ราย พระราชทานรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีฬาและการแข่งขันระเบียบแถว จำนวน 9 ราย

ในหลวงเสด็จฯ วชิราวุธวิทยาลัย

โอกาสนี้พระราชทานพระบรมราโชวาท จบแล้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร้องเพลง Graduates Song Goodbye และนักเรียนทุกคนร้องเพลง “อีกสี่สิบปี” จากนั้นพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร่วมเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ ตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงประจักษ์ในความจงรักภักดีของนักเรียนจึงมีพระราชดำริให้รักษาประเพณีนี้ไว้ จวบจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไฟฟ้าเด็จประพาสตามท้องถนนในพระนครเป็นการส่วนพระองค์

สำหรับ ประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง มีมาตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตาม ตามที่ระบุไว้ในจดหมายเหตุวชิราวุธ : ประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง ตอนหนึ่ง ความว่า…

ที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่ง สมัยรัชกาลที่ 6

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังริมคลองเปรมประชากร และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเปิดการเรียนการสอนที่สวนกระจังเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 130 (พ.ศ.2454) แล้ว

พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จประพาสตามท้องถนนในพระนครในทุกเย็นวันเสาร์ และมักจะเสด็จมาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และเวลานั้นท่านผู้บังคับการยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นประจำ

นอกจากการเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปในงานวิสาขบูชา และงานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเป็นลำดับตลอดรัชกาล

อนึ่ง เนื่องจากพระราชพาหนะที่ทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นเป็นรถยนต์ ดังนั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในงานประจำปีของโรงเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ตอนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับในดึกคืนวันนั้น นักเรียนจึงได้พร้อมกันห้อมล้อมเข็นรถยนต์พระที่นั่งไปจนสุดเขตโรงเรียนแทนการปลดม้าแล้วฉุดชักลากเช่นเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง

การที่นักเรียนพร้อมกันเข้าห้อมล้อมเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จในคืนวันนั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าให้ฟังว่า ในเวลานั้นท่านผู้เล่ายังเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จในวันนั้น ท่านเล่าว่า วันรุ่งขึ้นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ – พระยาบริหารราชมานพ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในเวลานั้น

ได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ ให้การเข็นรถยนต์พระที่นั่งของนักเรียนคงเป็นประเพณีของโรงเรียนสืบไป ด้วยมีพระราชดำริว่า นักเรียนกระทำไปด้วยความจงรักภักดี เหตุนี้วชิราวุธวิทยาลับจึงคงรักษาประเพณีการเข็นรถยนต์พระที่นั่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จะจบการศึกษา เข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จะจบการศึกษา เข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกในรัชกาล

เข็นรถยนต์พระที่นั่ง สมัยรัชกาลที่ 9 ถึงปัจจุบัน

อนึ่ง เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกในรัชกาล เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จะจบการศึกษา เข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จ

มีคำบอกเล่าของนิสิตเก่าอาวุโสแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งแรก ๆ นั้น ถึงเวลาประทับนถยนต์พระที่นั่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับมีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งกรูกันเข้าเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จ และมีการเข็นรถยนต์พระที่นั่งอยู่สัก 2 ปีจึงเลิกไป

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ
นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกในรัชกาล เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495

จากคำบอกเล่าดังกล่าว เมื่อไปสอบถามนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้ไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้น ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2495แล้ว มักจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีร่วมกับนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จนถึงกับทรงรับเป็นผู้ฝึกสอนนักเรียนที่จะเข้าร่วมการประกวดวงดนตรีด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยหาที่สุดมิได้

ต่อมานักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกวงหัสดนตรีที่ทรงฝึกสอนมานั้นได้ไปศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ไปรวมกันเล่นดนตรีกับนิสิตที่มาจากโรงเรียนอื่น ๆ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และเมื่อประทับรถยนต์พระที่นั่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่เคยเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จมาก่อน ได้ชักชวนนักดนตรีอื่นที่ร่วมในการทรงดนตรีในวันนั้น เข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จจนถึงประตูหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนบรรดานักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยนั้นสำเร็จการศึกษาไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการเข็นรถยนต์พระที่นั่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเลิกไป แต่การทรงดนตรีคงดำเนินต่อมาจนงดไปภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516