องค์กรในฝันคนเจน Z กูเกิล-ปตท.-เอสซีจี คือท็อปทรี

เย็นส์ โพลด์-จีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ
เย็นส์ โพลด์-จีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ

ปลายปี 2566 บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด หรือ WorkVenture ที่ปรึกษา และผู้นำด้านการสร้างแบรนด์นายจ้างให้กับบริษัทชั้นนำในไทย ทำการสำรวจ Top 50 Companies in Thailand 2024 โดยสอบถามความคิดคนทำงานอายุระหว่าง 22-35 ปี ที่จบระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์กว่า 11,452 คน กับคำถามปลายเปิดที่ว่า…บริษัทที่คุณอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดคือที่ไหน ? และเหตุผลอะไรจึงเลือกบริษัทนั้น ๆ ?

คำถามที่ไม่มีตัวเลือกของบริษัทต่าง ๆ เป็นคำเฉลย จึงทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามค่อนข้างมีอิสระในการตอบคำถาม จนที่สุดผู้ตอบแบบสอบถามต่างเทคะแนนให้กูเกิล ประเทศไทย ครองแชมป์อันดับที่ 1 ต่อเนื่องตลอด 6 ปี ตามมาด้วย ปตท., เอสซีจี, อโกด้า และยูนิลีเวอร์ ตามลำดับ อีกทั้งยังมีบริษัทหน้าใหม่หลายแห่งตบเท้าเข้ามาอยู่ในโพลปีนี้ด้วย

“เย็นส์ โพลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมปีนี้บริษัทขนาดใหญ่สัญชาติไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยหน้าบริษัทจากต่างประเทศที่เคยถูกมองว่ามีประสบการณ์การทำงานทันสมัยกว่า

เนื่องเพราะบริษัทไทยมีการปรับตัว ทั้งในเรื่องของสถานที่ทำงาน รูปแบบการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนั้นยังมีการปรับตัวในเรื่องการเข้าหา และรับฟังคนเจน Z มากขึ้น เพราะกลุ่มเหล่านี้เป็นพนักงานเกิน 50 % ในหลาย ๆ องค์กร

“ที่สำคัญ พนักงานกลุ่มนี้มีแนวโน้มการทำงานที่ให้ความสำคัญกับตนเองมากขึ้น โดยเลือกในสิ่งที่ตนเองอยากทำจริง ๆ และมองหาความหมายในงาน ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนงานไปสู่สิ่งที่ตนเองมองว่าดีกับตัวเองมากกว่า โดยไม่มองว่าผลตอบแทนจะจูงใจพนักงานเจน Z อย่างเดียว

แต่กลับมองบริษัทจะต้องมีชื่อเสียงในการดูแลพนักงานที่ดี มีสวัสดิการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ อีกทั้งต้องมอบหมายงานที่มีความเป็นรูปธรรมให้เห็นว่าผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นส่วนใดของภาพใหญ่ของบริษัท ยิ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้มีความภูมิใจ และเลือกอยู่กับองค์กรต่อ

เพราะคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งที่ตนเองเรียนมามากเท่ากับพนักงานในอดีต แต่พร้อมจะเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างจากสาขาที่ตนเองเรียน ยิ่งถ้าบริษัทนั้น ๆ เปิดโอกาสให้ลองทำงานข้ามสายงานหรือเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมด้วยยิ่งดี”

“จีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ” Head of Employer Branding และที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า การสำรวจครั้งนี้ต้องการนำเสนอปัจจัยสำคัญของการดึงดูด และการรักษาทาเลนต์เป็นสำคัญ อีกทั้งคำถามในการสำรวจก็เป็นลิขสิทธิ์ของ WorkVenture เพื่อใช้ตรวจสุขภาพนายจ้างขององค์กรต่าง ๆ

สำหรับคำถามที่ให้กลุ่มตัวอย่างตอบ ได้แก่…หากมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานได้ในปีนี้ อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ใช้ตัดสินใจทำงานกับองค์กรใหม่ ?

คำตอบออกมาชัดเจนว่า 10 อันดับแรก คือ 1. เงินเดือนที่สามารถต่อรองได้ (76%) 2.สวัสดิการและสิทธิพิเศษ (73%) 3.สมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต (66%) 4.ความก้าวหน้าในสายอาชีพ (64%) 5.ความมั่นคงในการจ้างงาน (64%) 6.สถานที่ทำงาน (52%) 7.การทำงานเป็นทีม (46%) 8.ความเคารพและความเอาใจใส่ (46%) 9.ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน (45%) และ 10.วัฒนธรรมของบริษัท (45%)

“ฉะนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลสำรวจปีก่อน (2566) จะมีประเด็นที่ส่งสัญญาณแรงเตือนนายจ้างว่าต้องใส่ใจถึงความต้องการของทาเลนต์ ใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเคารพและความเข้าอกเข้าใจ 2.การสื่อสารภายในองค์กร 3.ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม 4.การเห็นคุณค่าในผลงาน 5.ความไว้วางใจและการควบคุมดูแลตัวเองได้ และ 6.ไว้ใจให้ทำงานที่ต้องการความรับผิดชอบสูง”

ดังนั้น หากนายจ้างมุ่งเน้นประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ และสื่อสารเล่าเรื่องราวอย่างสร้างสรรค์ให้ไปถึงยังกลุ่มผู้สมัครที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในหลากหลายรูปแบบ และหลายช่องทางจะยิ่งมีผลต่อการรับรู้ ความสนใจ และความต้องการสมัครเข้าร่วมงานของทาเลนต์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมพลัง Brand Exposure ให้โดนใจตอบโจทย์เพิ่มการเปิดรับของกลุ่มคนทำงานเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขในการทำงาน ทำให้อยากอยู่ และเติบโตกับองค์กรนั้น ๆ ต่อไป สามารถสรุปได้ 10 เหตุผลสำคัญ คือ 1.เงินเดือนที่สามารถแข่งขันได้ 2.สวัสดิการและสิทธิพิเศษ 3.ความก้าวหน้าในสายอาชีพ 4.ความเคารพและความเข้าอกเข้าใจ

5.ความมั่นคงในการจ้างงาน 6.การทำงานเป็นทีม 7.สมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต 8.สถานที่ทำงานสะดวกสบาย 9.การฝึกอบรมและการพัฒนาทาเลนต์ และ 10.ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

“จีรวัฒน์” กล่าวต่อว่า ภาพรวมดูเหมือนอันดับความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ จะคล้ายกับเหตุผลในการตัดสินใจเลือกที่ทำงานใหม่ แต่เมื่อนำไปเทียบกันจริง ๆ ปรากฏว่าปัจจัยบางเรื่องกำลังส่งสัญญาณมาแรงมากขึ้น และลดความสำคัญลงในบางเรื่องเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อถามทาเลนต์ถึงการทำงานในปี 2567 ว่า…เวลามองหางานใหม่ อยากจะทำงานในรูปแบบไหนมากที่สุด ?

คนส่วนใหญ่จะเลือกทำงานในสำนักงานมากกว่า (48%) ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (2566) สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยน่าจะเป็นผลจากการที่องค์กรปรับนโยบายการทำงานหลังจากโควิด-19 คลี่คลายในปีที่ผ่านมา จึงทำให้การเข้าทำงานในสถานที่กลับมาเป็นเรื่องปกติอีกครั้ง ในขณะที่มีคนเลือกทำงานข้างนอกสำนักงาน (25%) และทำงานในสำนักงานอย่างเดียว (17%)

“ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ชอบทำงานจากที่บ้าน หรือนอกสถานที่เป็นส่วนใหญ่ อาจมีสลับเข้าที่ทำงานบ้าง (Hybrid) เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเลือก หรือปรับได้ตรงตามลักษณะงาน และความจำเป็น ดังนั้น นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นรองรับสถานการณ์และความต้องการของคนทำงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและผลงานเป็นสำคัญจะได้รับความสนใจจากกลุ่มทาเลนต์ยุคใหม่มากยิ่งขึ้น การออกแบบงาน และนโยบายการทำงานจึงมีผลต่อการเลือกเข้าทำงานอย่างเห็นได้ชัด”

เพราะปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีทักษะระดับสูง จนเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding) กระทั่งกลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มการรับรู้ของบริษัทให้สามารถเข้าถึงกลุ่มทาเลนต์ได้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมักทำควบคู่ไปกับ Corporate Branding เพื่อสร้างกลยุทธ์การพัฒนาของบริษัทอย่างยั่งยืน เนื่องจาก Employer Branding ที่แข็งแกร่ง ไม่เพียงช่วยให้บริษัทดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากยังช่วยลดต้นทุนในการสรรหาบุคลากรอีกด้วย