ต่อเวลาศูนย์ CI 4 จังหวัด ดึงแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ขยายระยะเวลาให้บริการศูนย์ CI ออกเอกสารับรองบุคคล+พิสูจน์สัญชาติกลุ่มใหม่ และออกใบอนุญาตทำงาน กลุ่ม LTR 5 ปี ต่ออายุสูงสุด 10 ปี ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เตรียมเสนอ ครม.ขยายระยะเวลาให้บริการศูนย์ CI ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ชลบุรี ถึง 13 ก.พ. 66 และเห็นชอบการแก้ไขประกาศกระทรวงแรงงาน ให้แรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

วันที่ 2 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) และการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

นายสุชาติกล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาขยายเวลาการเปิดศูนย์ CI หากมีมติเห็นชอบจะเปิดให้บริการศูนย์ CI อีกครั้งในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แก่แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับเดิม

รวมถึงทางการเมียนมาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แรงงานเมียนมาที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่มีเอกสารประจำตัว

ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย จะมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงแรงงาน โดยมีสาระสำคัญ เป็นการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตามจำนวน 4 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักยาว (Long-Term Resident Visa: LTR) และได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรคราวละไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เห็นชอบให้เปิดศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 ถึง 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีแรงงานเมียนมาใช้บริการ ณ ศูนย์ CI ทั้ง 5 ศูนย์ (จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี) รวมกันประมาณ 400,000 คน

สำหรับการพิจารณาครั้งนี้เป็นไปตามที่ทางการเมียนมาได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทางการไทย ร้องขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์ CI ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากทางการเมียนมาคาดการณ์ว่ายังคงเหลือแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) จำนวนประมาณ 250,000-300,000 คน

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ของแรงงานเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด และนายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการมากที่สุดในกลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา)

โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จำเป็นต้องวางแนวทาง ให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักร กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา และสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุม คบต.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานของทั้ง 4 ศูนย์ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี ให้สามารถดำเนินการได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว