วาระความยั่งยืน SX 2022 มอบความรู้สู่ธุรกิจโลก

SX2022

หกรรมด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ชื่อ Sustainability Expo 2022 (SX 2022) ในคอนเซ็ปต์ “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) เป็นการผนึกกำลังของ 5 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่สร้างความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ตลอดจนกิจกรรมเวิร์กช็อป การบรรยาย และให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 รายทั่วโลก ทั้งยังมีบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศกว่า 100 แห่งมาร่วมภายในงาน

SX2022

สำหรับงานปีนี้เป็นปีที่ 3 ทั้งยังคงน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเผยแพร่ และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย นอกจากนั้น งานครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability Development Goals-SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติประกาศไว้ด้วย

ยึด ESG ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดงานว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ว่าเราจะผ่านจุดตํ่าสุดของวิกฤตการณ์โควิด-19 (COVID-19) กันมาแล้ว แต่วันนี้โลกยังเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงทางด้านอาหาร, ความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอยลง ที่สําคัญคือเรื่องการเรียกร้องสิทธิจากคนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ทุกครั้งที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันทํางาน และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็สามารถตอบรับความท้าทาย และปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ และนี่คือที่มาของการจัดงาน SX 2022 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน-2 ตุลาคม 2565 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ไทยเบฟยังคงตอกย้ำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่จะสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต เพื่อให้ชุมชนและสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยยึดหลัก ESG (environmental-สิ่งแวดล้อม, social-สังคม, governance-ธรรมาภิบาล) มาเป็นแกนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานครอบคลุมในทุกมิติ

อาทิ การมุ่งสู่ net zero (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์), การจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน, โครงการ ไทยเบฟรวมใจต้านภัยหนาว ส่งมอบผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล, โครงการการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.), Biodiversity เพื่อนำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการประเมินแหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ที่สำคัญ”

นอกจากนั้น ยังมีโครงการที่สำคัญ อาทิ การจัดการน้ำเสียผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำเทียมโดย Knockdhu Distillery ซึ่งเป็นโรงกลั่นมอลต์วิสกี้ในเครือ ที่สกอตแลนด์, การขจัดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารผ่านโครงการต่าง ๆ ในกลุ่มอาหารของเครือไทยเบฟ

ตั้งแต่โรงงานผลิตต้นทาง จนถึงการส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมช่วยลดขยะอาหาร ผ่านโครงการ “กินหมดเกลี้ยง” และ “ไม่กินบอก เอาออกให้” และโครงการ Community Based Disaster and Risk Management (CBDRM) ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน”

สงครามแย่งทรัพยากรธรรมชาติ

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่า มนุษย์ยังคงใช้ชีวิตตอบสนองความสุขของตัวเอง และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสะสม จนอาจทำให้ปริมาณทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ไม่พอรองรับจำนวนประชากรได้ เพราะวันนี้ทรัพยากรหายไปเฉลี่ย 1 ใน 3 ส่วนแล้ว ซึ่งประชากรชาวโลกมีถึง 7,400 ล้านคน และ UN เปิดเผยว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรจะเป็น 9,000 ล้านคน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

“สงครามแย่งชิงเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การแย่งชิงพลังงาน และอีก 10 ปีต่อจากนี้จะเกิดสงครามแย่งชิงน้ำ เกิดภาวะสงครามที่ไม่ได้ใช้อาวุธ ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ทรงเน้นย้ำถึงการมีน้ำที่เพียงพอ และทรงเสนอเศรษฐกิจพอเพียงไปทั่วโลก โดยในปี 2531 พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชน เพราะทรงมองเห็นปัญหาที่โลกจะต้องเผชิญในอนาคต”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้หลักความคิด 3 ประการ ได้แก่ พอประมาณ, มีเหตุมีผล และมีคุณธรรม ดังนั้น การจะเกิดความยั่งยืนได้ ต้องมีความพอเพียง-พอดี และต้องร่วมมือกันทั่วโลก ทั้งยังต้องแก้ปัญหาให้ทันการ

คิดถึงโลกมากกว่าผลกำไร

สำหรับช่วงเสวนาหัวข้อ “Sustainable Development : Perspectives from 3 Generations” ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีความรู้มากขึ้นในเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ

“เรานำเรื่องการแก้ไขสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมาเป็นวาระสำคัญในช่วง 2-3 ปี โดยพยายามเปลี่ยนวิธีทำงาน ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอน ลดการใช้วัสดุ และลดการใช้พลังงาน เพื่อสร้างชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ที่สำคัญ เรามีดอยตุงโมเดล ซึ่งคือบทเรียนและประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า 30 ปี จากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านเศรษฐกิจและสังคม”

ในปี 2555-2556 ดอยตุงเริ่มจัดการปัญหาขยะและของเหลือใช้ มีการจัดการขยะแบบไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ และไม่สร้างขยะใหม่ ๆ รวมทั้งหมุนเวียนด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันดอยตุงประสบผลสำเร็จ ไม่มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะเลย

นอกจากนั้น เราตั้งเป้าทำงานกับเอกชนเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอนเครดิต และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดจากการทำไร่เลื่อนลอย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่แทรกตัวอยู่ภายในงาน Sustainability Expo 2022 จนทำให้ทุกหลายภาคส่วนต่างมองเห็นเรื่องของความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญของโลกอย่างแท้จริง