ไทยผลิตน้ำผึ้งสูงลำดับ 36 ของโลก รายได้ส่งออกปีละ 600 ล้านบาท

ธุรกิจน้ำผึ่้ง ภาพจาก มจธ.

ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยไทยผลิตน้ำผึ้งสูงลำดับ 36 ของโลก รายได้ส่งออกปีละ 600 ล้านบาท ประธานภูมิภาคสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ วางแผนเร่งผลักดันมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน ปรับรูปแบบทำเกษตร หวังเพิ่มรายได้ส่งออก

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี ผู้บริหารศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และประธานภูมิภาคเอเชียคนล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ (International Federation of Beekeepers’ Association: Apimondia) เปิดเผยว่าประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และอากาศเหมาะกับการทำเลี้ยงผึ้ง และผลิตน้ำผึ้งสูงเป็นลำดับ 36 ของโลก แต่กลับมีรายได้จากการส่งออกน้ำผึ้งเพียงปีละประมาณ 600 ล้านบาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร, 2563) ขณะที่มูลค่าตลาดน้ำผึ้งโลก 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะมีข้อจำกัดของน้ำผึ้งไทย 2 เรื่องสำคัญคือ “มาตรฐานน้ำผึ้งสากล” และ “การสื่อสารเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ” 

มาตรฐานน้ำผึ้งเป็นของยุโรป-แอฟริกา

เนื่องจากมาตรฐานน้ำผึ้งในระดับสากลที่ใช้กันในปัจจุบัน (Codex standard for honey) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้ง และผลิตน้ำผึ้งของประเทศผู้ผลิตและส่งออกในยุโรปและแอฟริกา ที่เป็นน้ำผึ้งจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ (ผึ้งฝรั่ง) 

ขณะที่การเลี้ยงผึ้งของคนเอเชียรวมถึงในบ้านเรา มีปัจจัยหลายอย่างต่างออกไป ที่นอกจากจะมีความหลากหลายของชนิดผึ้งแล้ว (ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งในเชิงเศรษฐกิจเพื่อผลิตน้ำหวาน อย่างน้อย 6 สายพันธุ์) ยังมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศทั้งอุณหภูมิ หรือปริมาณแสง รวมถึงชนิดพันธุ์ของอาหารผึ้ง (ดอกไม้) ที่แตกต่างไป 

ทำให้น้ำผึ้งที่ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานในหลายจุด เช่น สี ความเจือจาง ขณะเดียวกันในเชิงนโยบายประเทศไทยยังต้องสร้างกลไกความร่วมมือกันของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งที่ใช้ได้กับทุกประเทศในแถบนี้

รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี
รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี

น้ำผึ้งเขตร้อนโภชนาการดี แต่ไม่มีพลังสื่อสาร

รศ.ดร.อรวรรณกล่าวต่อว่า ในด้านคุณค่าทางโภชนาการนั้นแม้จะมีงานวิชาการที่ยืนยันมีคุณสมบัติอันโดดเด่นของน้ำผึ้งเขตร้อนในการเป็นอาหารทางเลือก (functional food) หรืออาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) แต่ก็ไม่มีพลังที่จะสื่อสารสิ่งนี้ไปสู่การรับรู้ในระดับสากล

หนึ่งในตัวอย่างของการวัดคุณภาพของน้ำผึ้ง คือ ค่า UMFHA (Unique Manuka Factor Honey Association) ในการออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตามธรรมชาติที่ใช้กับน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) ด้วยเลข 5-10-15 และ 20 โดยหากเป็นน้ำผึ้งมานูก้า UMFAH 20 จะมีราคาซื้อขายถึงกิโลกรัมละ 18,000 บาท 

ซึ่งจากวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำผึ้งทั้งจากฟาร์มเลี้ยงในไทยและประเทศเพื่อนบ้านพบว่า มีน้ำผึ้งเขตร้อนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า UMFHA 20 ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากคุณภาพนี้แล้ว ผลการศึกษาทั้งของศูนย์ Bee Park รวมถึงของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ยังระบุถึงการค้นพบสารสำคัญอื่นๆ ในน้ำผึ้งไทยที่มีศักยภาพอีกหลายชนิด เช่น สารต้านการอักเสบ สารที่มีคุณสมบัติยับยั้งพิษ ฯลฯ  แต่เสียงของประเทศไทยเพียงเสียงเดียว ไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าน้ำผึ้งเขตร้อนเป็นเพียงสารให้ความหวานไปสู่คุณค่าใหม่ ๆ เหล่านี้ได้

สร้างมาตรฐานผลักดันธุรกิจน้ำผึ้งเขตร้อน

“ดังนั้น 6 ปีต่อจากนี้ ในฐานะหนึ่งในทีมบริหาร Apimondia  ซึ่งเป็นสมาคมด้านการเลี้ยงผึ้งและธุรกิจน้ำผึ้งอันดับหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 125 ปี  (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1895)  สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็คือ การผลักดันให้เกิดการสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อนและการสื่อสารคุณค่าของน้ำผึ้งเขตร้อน”

“บทบาทสำคัญของ Apimondia ในเวทีการค้าโลก คือการผลักดันทิศทางธุรกิจน้ำผึ้ง ทั้งนโยบาย การจัดการ รวมถึงกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชีย จะทำให้ตนเองสามารถหารือประเด็นเหล่านี้กับสมาชิกในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันให้เกิดมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อนให้ได้

รวมถึงการสนับสนุนผลักดันให้เครือข่ายเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ในประเทศของตนเอง ควบคู่ไปกับการช่วยกันสื่อสารข้อมูลจุดเด่นของน้ำผึ้งเขตร้อนในแง่ของการเป็นอาหารสุขภาพหรืออาหารทางเลือกไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่องโดยหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้เกิดการยอมรับมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อนในระดับสากลได้ในที่สุด”

รังผึ้ง

ลดใช้สารเคมี

รศ.ดร.อรวรรณกล่าวว่า นอกจากมาตรฐานผึ้งเขตร้อนจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง ชันโรง หรือฟาร์มผึ้งพันธุ์ฝรั่งของประเทศไทยแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบให้เหมาะสม โดยเฉพาะการทำการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ที่ลดการพาสารเคมีและยาฆ่าแมลง เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากจะลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตัวเกษตรกรแล้ว ผึ้งยังสามารถช่วยเพิ่มการติดผลของพืชเศรษฐกิจ อันหมายถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งในและมีการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยด้านผึ้งในหลายประเทศมากว่า 15 ปี ส่วนสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ (International Federation of Beekeepers’ Association: Apimondia) เป็นสมาคมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งและผู้จำหน่ายน้ำผึ้งกว่า 120 สมาคมทั่วโลก 

สมาคมผึ้ง