อิเกีย ผนึก we!park มอบปุ๋ยต้นสนสดสร้างพื้นที่สีเขียว

เป็นที่ทราบว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ล้วนทำให้ “มนุษย์” มีความจรรโลงใจเป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนของประเทศเหล่านั้นต่างเข้าไปใช้บริการเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่าง ๆ

สำหรับประเทศไทย สวนสาธารณะในเมืองหลวงอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรมากนัก ทั้งแต่ละที่ยังอยู่เฉพาะเขต และอยู่ห่างจากบ้านพักอาศัยพอสมควร ขณะเดียวกัน ก็มีพื้นที่รกร้างอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สามารถประยุกต์มาทำเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้

ที่สำคัญ ยังอยู่ใกล้บ้านเรือนของประชากรแถบละแวกนั้น ๆ ด้วย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้อิเกีย ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่ม we!park แพลตฟอร์มกลางของการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในเมืองให้มีคุณภาพและยั่งยืน จึงร่วมกันแชร์แนวคิดในการร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อพัฒนาพื้นที่รกร้าง 3 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ สวนจักรพรรดิ (ชุมชนนางเลิ้ง), โบสถ์กาลหว่าร์ (บางกอกน้อย) และคลองเป้ง (เอกมัย-ทองหล่อ) ภายในงานนิทรรศการ “Green Hacker จู่โจมพื้นที่ร้างเปลี่ยนเมือง”

โดยอิเกียทำการส่งมอบปุ๋ยกว่า 230 กระสอบจากต้นสนสดอิเกียกว่า 600 ต้น ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำไปสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีเขียว อีกทั้งยังส่งมอบเฟอร์นิเจอร์อิเกียจำนวน 350 ชิ้น เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่สาธารณะในเขตชุมชนดังกล่าว

โดยกิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลการออกแบบสุดยิ่งใหญ่ประจำปีอย่างงาน Bangkok Design Week 2023 ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “Urban‘Nice’zation เมืองมิตรดี” ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

“วรันธร เตชะคุณากร” ผู้อำนวยการด้านการตลาดและดีไซน์ อิเกีย ประเทศไทย กล่าวว่า อิเกียชื่นชมผู้จัดงานนิทรรศการ Green Hacker และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และขอขอบคุณที่มอบโอกาสให้อิเกียได้เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจนี้ อิเกียเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาพื้นที่ในเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจ

ทั้งนี้ อิเกียได้เชิญชวนลูกค้าให้นำต้นสนสดที่ซื้อจากสโตร์อิเกียหลังจากใช้งานมาคืน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นวัสดุปลูกต้นไม้มามอบภายในนิทรรศการ Green Hacker ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2023 ครั้งนี้

“เราได้รับความร่วมมือจากลูกค้าเป็นอย่างดี ด้วยจำนวนต้นสนที่ถูกนำกลับมาคืนกว่า 600 ต้น ด้วยการนำไปเข้ากระบวนการจนได้มากกว่า 230 กระสอบ น้ำหนักรวมกว่า 4,600 กิโลกรัม โดยวัสดุปลูกมาจากการรีไซเคิลจะถูกนำไปใช้ในการบำรุงดินให้กับต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ พร้อมสนับสนุนการสร้างพื้นที่สีเขียวตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปตามความมุ่งมั่นของอิเกียในการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชนดีขึ้น พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลก และชุมชนที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ในทุก ๆ วัน ผ่านนโยบายด้านความยั่งยืนของเรา”

ภายในงานนิทรรศการ “Green Hacker” ยังมีการจัดเสวนาความร่วมมือการปรับพื้นที่สีเขียว ณ สวนจักรพรรดิ์ บริเวณชุมชนนางเลิ้ง ย่านเก่าแก่ใจกลางพระนครเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของวิถีชุมชน โดยมีตัวแทนจาก we!park ชุมชนนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ้านและสวน และอิเกีย ประเทศไทย เข้าร่วม และแบ่งปันแนวคิดในการพัฒนาสวนจักรพรรดิ์ และพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ ในกรุงเทพฯด้วย

“ยศพล บุญสม” ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park กล่าวเสริมว่า การริเริ่มพัฒนา และเปลี่ยนแปลงบริเวณพื้นที่สวนจักรพรรดิ์มาจากความตั้งใจ และความผูกพันที่มีต่อพื้นที่ของคนในชุมชน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร อิเกีย บ้านและสวน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว จนเป็นแรงขับเคลื่อนในอีกหลาย ๆ มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและชุมชน

“พื้นที่สวนจักรพรรดิ์แห่งนี้มีพื้นที่ 44 ตารางวา ตอนนี้เป็นส่วนเติมเต็มความมั่นคงทางอาหาร และด้านสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพรรณ ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่สุดที่กลุ่ม we!park ร่วมพัฒนา แต่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะในพื้นที่ขนาดเท่าใด ที่สำคัญคือความงดงามไม่ได้อยู่ที่ว่าเราพัฒนาพื้นที่นั้นสำเร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน”

สำหรับแนวคิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสวนจักรพรรดิ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาจากคนในชุมชนอย่าง “คุณนวรัตน์ แววพลอยงาม” หรือ “คุณน้ำมนต์” ประธานวิสาหกิจชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเกิดและเติบโตในพื้นที่แห่งนี้ จนมองเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รกร้างเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนของคนในชุมชน

จึงเกิดเป็นแนวคิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาของคนในชุมชน จนเป็นพื้นที่ปลูกพืชผัก และเป็นพื้นที่สำหรับศูนย์การเรียนรู้การนำวัตถุดิบ ขยะ หรือสิ่งเหลือใช้ในชุมชนมาแปรรูปเพื่อให้เกิดประโยชน์ใหม่ ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมออกแบบ และปรับปรุงพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งยังคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของคนในชุมชนเป็นหลัก

ขณะที่บ้านและสวนมาร่วมสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่สีเขียวในหลาย ๆ บริเวณในกรุงเทพฯ พร้อมกับมอบความรู้เกี่ยวกับการอยู่อาศัย ตลอดถึงกรุงเทพมหานครที่มอบการสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้โครงการประสบความสำเร็จในที่สุด