ออมสิน ตั้งเป้าฟื้นฟูชุมชน 600 แห่งจากวิกฤตโควิด ในปี 2566

ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินของรัฐ เดินหน้าฟื้นฟูชุมชน 600 แห่งหลังโควิด-19 ประเดิมชุมชนพูนบำเพ็ญ คลองบางเชือกหนัง เส้นทางท่องเที่ยว 3 ตลาด 3 คลองย่านฝั่งธนบุรี 

การท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวกลับมาส่งผลดีต่อเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนริมคลองในเมือง ที่คนในชุมชนเร่งฟื้นฟูสถานที่ภายในเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา คาดหวังจะเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาหนี้ ขณะที่ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินของรัฐได้จัดกิจกรรมสนับสนุน ตั้งเป้าหมายพัฒนาและฟื้นฟูชุมชน 600 แห่งในปีนี้ เริ่มต้นที่ชุมชนพูนบำเพ็ญ ริมคลองบางเชือกหนัง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 

คลองบางเชือกหนัง ถือเป็นหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยว 3 ตลาด 3 คลองย่านฝั่งธนบุรีกลับมาคึกคักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติล่องเรือท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตของชุมชนอย่างชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ ที่คนรวมตัวกันนำจุดเด่นด้านฝีมือ เช่น เกษตรอินทรีย์ ขนมไทย โฮมสเตย์ มาเป็นสร้างความเข้มแข็งดึงนักท่องเที่ยว

นายรัตนประโชติ พูนบำเพ็ญ ประธานชุมชนพูนบำเพ็ญ เปิดเผยว่า หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มานาน 3  ปี ส่งผลให้คนชุมชนได้รับผลกระทบด้านรายได้ และหนี้สินเพิ่มขึ้น คนที่ตกงานก็กลับมาอยู่ในชุมชนจำนวนมาก 

เมื่อไทยและหลายประเทศกลับมาเปิดประเทศ คนในชุมชนกว่า 700 คน จึงร่วมกันเปิดพื้นที่เป็นตลาดบ้านไม้ชายคลองเชื่อมอีก 2 ตลาด คือ ตลาดคลองลัดมะยม ตลาดวัดบางสะพาน สร้างเส้นทางท่องเที่ยวริม 3 ฝั่งคลอง เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ แต่ยอมรับว่า การฟื้นฟูต้องใช้เงินทุนจำนวนมากที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย 

นางสุจินตนา หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้ารายย่อยและองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมีเป้าหมายจะฟื้นฟูชุมชนหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย ผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยจะไม่ใช่แค่การให้เงินทุน แต่จะร่วมกับสถาบันการศึกษาเข้าไปเพิ่มทักษะทางอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ทำอาหาร การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นโฮมสเตย์ รวมทั้งความรู้การเงิน ลดปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ

โดยปีนี้ ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายจะพัฒนาชุมชมราว 600 ชุมชน จากปัจจุบันที่ช่วยพัฒนาแล้ว 3,500 ชุมชน และยกระดับรายได้คนในชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 

“ภายใน 2-3 เดือนนี้ เตรียมจะออกสินเชื่อ คิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพื่อจะเข้ามาเติมทุนให้รายย่อยเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนการเงินในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นางสุจินตนากล่าว