ฟิวเจอร์เทลส์แล็บ แก้ปัญหาอนาคตสุขภาพจิตคนไทย

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลทำให้คนเกิดภาวะเครียดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC)

จึงร่วมทำงานวิจัย “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิต และข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับร่วมกันหาองค์ความรู้ นวัตกรรม และการมองอนาคตมาช่วยส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย

“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า ปัจจุบันคนทั่วโลกเฉลี่ยมีโรคทางด้านสุขภาพจิตถึง 36% สูงกว่าโรคมะเร็ง (34%) ยิ่งไปกว่านั้นยังให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพใจพอกับสุขภาพกายเฉลี่ยถึง 76%

ล่าสุดทาง UN ออกมาประกาศให้ 80% ของประเทศในเครือข่ายทั่วโลกนำการดูแลสุขภาพจิตเป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานภายในปี พ.ศ. 2573 และเมื่อมองประเทศไทย 80.6% ของคนเมือง มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังมากกว่าผู้อาศัยในเขตชนบทเกือบครึ่ง (48.9%) ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า การจะทำให้คนที่อาศัยในเมืองมีสุขภาวะที่ดี จะต้องเข้าใจ และดูแลสุขภาพจิตให้เตรียมพร้อมกับหลากหลายเหตุการณ์ด้วย เช่น โรคระบาด หรือ ภาวะเศรษฐกิจไม่มั่นคง เป็นต้น

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต ประกอบกับค่านิยมของสังคมไทยที่มีการตีตราผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่มาก ความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตยังคงมีอยู่น้อย ทำให้การสร้างเสริมสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

เนื่องจากคนไทยจำนวนหนึ่งยังขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง จนนำไปสู่การละเลย เพิกเฉย และปฏิเสธการเข้ารับบริการสุขภาพจิต ที่สำคัญ สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในสังคมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด การเกิดโรคซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ และในบางกรณีนำมาซึ่งการสูญเสียจากการทำร้ายตนเอง

ผลการสำรวจจาก Mental Health Check In ในปี 2565 จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 1,149,231 ราย พบว่ามีความเสี่ยงซึมเศร้า 5.47%, ภาวะหมดไฟ 4.59% และมีความเครียดสูง 4.37% ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตเป็นความท้าทายที่ทุกคนและทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ

อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหากขาดความเข้าใจถึงอนาคตของสุขภาพจิตสังคมไทยโดยละเอียด สังคมไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรงในอนาคต

“การศึกษาวิจัยด้านอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิตมีความสำคัญมากที่จะทำให้การทำงาน การวางแผนงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชนเป็นไปอย่างถูกทิศทาง และนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นสุขภาพจิตสังคมไทย ความสุขของคนไทย และพัฒนาแผนการส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพจิต

ผ่านกลไกด้านนโยบายและกฎหมายในทุกภาคส่วนของรัฐและสาธารณสุข รวมถึงทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาไปยังภาพอนาคตด้านสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ได้”

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า มีรายงานประชาชนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุมมากนัก อีกทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของสังคมไทย พบว่าปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ และปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากช่องว่างระหว่างวัยกลับยังไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นสื่อสันทนาการ หรือเข้ามามีส่วนช่วยในระบบบริการทางด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยยกระดับสุขภาวะของคนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะปัจจุบันมีสตาร์ตอัพไทยที่นำเสนอบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำหลักสูตรสอนการฟังเชิงลึก (deep listening) ที่ผ่านการรับรองจากกรมสุขภาพจิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะ Software-as-a-Service (SaaS Platform) การทำแอปพลิเคชั่นที่นำเสนอกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตรูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องสนุก

ทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้งานมีทักษะ และพลังยืดหยุ่นด้านสุขภาพจิตมากขึ้น รวมถึงการแชตบอตที่ช่วยเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมจากผู้ใช้งานไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาการซึมเศร้า เป็นต้น

“โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตลดระยะเวลาในการคัดกรองผู้รับบริการเบื้องต้น จนนำไปสู่การรักษาและการดูแลได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

“ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ETDA โดยศูนย์คาดการณ์อนาคต Foresight Center by ETDA ทำหน้าที่เสมือนถังความคิด (Think Tank) ในการติดตามสัญญาณและแนวโน้มอนาคตเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

จนนำไปสู่การหาปัจจัยขับเคลื่อนเพื่อจัดทำเป็นภาพฉายอนาคต (Scenario) โดยช่วยต่อยอดการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อันเป็นความร่วมมือในการศึกษาอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย (Technology in daily life) ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณของเทคโนโลยีกับสุขภาพจิตใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล คือคนไทยส่วนใหญ่มีความพร้อมและใช้งาน Social Media เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 2.การรู้เท่าทันกลับพบว่ามีไม่มากนัก โดยสะท้อนจากสถิติของการถูกหลอกทางออนไลน์ ข่าวปลอม และการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมีตัวเลขเพิ่มสูงต่อเนื่องทุกปี เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้นคือโจทย์สำคัญที่ประเทศ รวมถึง ETDA ต้องมองว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้าง Literacy สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลให้กับคนไทย และจะป้องกันผลกระทบของปัญหาสุขภาพที่เป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไร

ซึ่งการศึกษาการคาดการณ์อนาคตสุขภาพจิตของคนไทยนับเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย หรือทิศทางการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ” นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคตอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยอนาคตสุขภาพจิตคนไทยแบ่งออกเป็น 5 ฉากทัศน์ ได้แก่

หนึ่ง การระเบิดของความหวาดกลัว คือ ความเจ็บปวดจากปัญหาทางสังคมที่ถูกละเลยมานานจนกลายเป็นความหวาดกลัว และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่บังคับให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

สอง วิกฤตที่แฝงโอกาส สถานการณ์ที่ผันผวนรุนแรงต่อเนื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกังวล และพยายามเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

สาม มวลชนผู้โดดเดี่ยว แม้ผู้คนจะมีความสะดวกสบายในทุกด้าน แต่กลับมีความรู้สึกเหงา เครียด และกดดันมากขึ้น การใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัยบีบบังคับให้เผชิญการแข่งขันที่สูง และวิถีชีวิตดิจิทัลที่โดดเดี่ยว

สี่ สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นผลจากการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และเขตสุขภาพโดยสมบูรณ์

ห้า จุดหมายแห่งความสุข ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 5 ฉากทัศน์ เราอยากให้ฉากทัศน์ไหนเกิดขึ้นกับสังคม ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันดูแลสุขภาพใจของผู้คนในสังคม