รู้หรือไม่ ? ไทยมีแรงงานต่างด้าว 2.7 ล้านคน แต่ 5 แสนคนสถานะไม่ถูกต้อง

แรงงานต่างด้าว2

ไทยมีแรงงานต่างด้าว 2.7 ล้านคน แต่ 5 แสนคนมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กรมการจัดหางานจึงเปิดให้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการแรงงาน ผ่านระบบออนไลน์ ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2566

แรงงานไทยขาดแคลน

การขาดแคลนแรงงานในไทยโดยเฉพาะด้านกิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ และกิจการให้บริการต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวนมาก

ซึ่งจากสถิติในไตรมาสที่ 1/2566 ของกระทรวงแรงงาน มีแรงงานต่างชาติในไทยจำนวน 2,743,673 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 4.14 แสนคน เมียนมา 1.86 ล้านคน ลาว 2.10 แสนคน และเวียดนาม 2,230 คน ส่วนอีก 3 แสนคนเป็นแรงงานสัญชาติอื่น ๆ นับว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยถือเป็นร้อยละ 6.92 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน (กกจ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ โดยการนำเข้าแรงงานจะเป็นในรูปแบบภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศต้นทาง

เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบถูกกฎหมายตามเอกสารหรือหนังสือที่มีการบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding หรือ MOU) วาระจ้างงาน 4 ปี นายจ้างจะต้องยื่นคำขอแรงงานต่างด้าว โดยสามารถระบุคุณสมบัติของแรงงานได้ไม่ว่าจะเป็น เพศ จำนวนแรงงาน หรือแม้แต่ทักษะในการทำงาน

ปัญหาจ้างคนเข้าประเทศไม่ถูกต้อง

หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นายจ้าง/สถานประกอบการก็มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่วาระจ้างงานตาม MOU ครบ 4 ปีแล้ว หรือจ้างคนที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา

โดยมี ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทย จะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 และดำเนินการเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วนำมายื่นกับกรมการจัดหางาน ภายใน 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งมีประมาณ 7 แสนคน แต่มีประมาณ 2 แสนคนที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานสำเร็จ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า มีคนต่างด้าวที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้

ยื่นรายชื่อออนไลน์ ถึง 31 ก.ค. เท่านั้น !

นายไพโรจน์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

แต่นายจ้างต้องดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

“ขณะนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว ขอให้นายจ้างดำเนินการได้ทันที เมื่อดำเนินการยื่นหลักฐานเอกสารครบถ้วน นายทะเบียนจะออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566”

หากนายจ้างติดปัญหาในขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อฯ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694