ทางรอด (ไม่ใช่) ทางเลือก SCG ชู ESG ก้าวสู่โอกาสและธุรกิจใหม่

ในงานสัมมนา “ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก” ที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 ผ่านมา ทำให้ประจักษ์ชัดอย่างหนึ่งว่า ภาคธุรกิจการเงิน-การธนาคาร, ภาคธุรกิจพลังงาน และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงภาคธุรกิจเคมีภัณฑ์, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเครื่องดื่มต่างมองเรื่องของ “ESG” ไปในมิติที่คล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะการมอง “ESG” เป็น “ทางรอด” มากกว่า “ทางเลือก”

เพราะดังที่ทุกคนทราบ “ESG” ไม่เพียงเป็น “Game Changer” ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หาก “ESG” ยังเป็นพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจเพื่อความโปร่งใส และความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งเหมือนกับ “เอสซีจี” ที่นำโดย “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่มาบรรยายในหัวข้อ “ESG เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” โดยเฉพาะเรื่อง “โอกาสและความท้าทาย” ที่ภาคธุรกิจกำลังผจญอยู่ขณะนี้

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ESG โอกาสและความท้าทาย

“รุ่งโรจน์” กล่าวถึงความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเจอในเบื้องต้นว่า หากมองระยะสั้นคือ หนึ่ง ค่าครองชีพที่แพงขึ้น และไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย หากเกิดขึ้นทั่วโลก ผลตรงนี้ส่งผลให้กำลังซื้อของคนลดลงไปมาก สอง ภาคเศรษฐกิจใช้เวลาฟื้นตัว ถึงแม้ประเทศไทยจะฟื้นตัวดีที่สุดในอาเซียน เพราะมีภาคท่องเที่ยวมาช่วย แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละเซ็กเตอร์

เพราะภาคธุรกิจที่ไปดีจะเกี่ยวข้องกับการบริโภค เรื่องอาหาร แต่ภาคส่งออกเหนื่อย และตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไปจะเข้าเกณฑ์เอลนีโญ ที่เราต้องบริหารจัดการน้ำ เพราะมีความไม่แน่นอน ถึงแม้ฝนตกไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ภาพรวมฝนตกน้อยลง 20%

ส่วนระยะยาวคือ หนึ่ง สังคมผู้สูงอายุ แรงงานจะน้อยลง การหารายได้น้อยลง ส่งผลกับการบริโภค สอง การลงทุน เราไปเน้นการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีน้อยมาก ตรงนี้ต้องให้ความสำคัญ และ สาม ESG เรื่องของภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงอากาศ ฝนตกมาก หรือน้ำแข็งละลาย แต่หลาย ๆ ประเทศตื่นตัว เริ่มมีกฎเกณฑ์ระดับหนึ่ง ดังนั้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวให้เข้ากับ ESG อย่างไร

SCG ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมานานแล้ว โดยธุรกิจ SCG ทำสินค้าจำหน่ายภายในประเทศ 55% และต่างประเทศ 45% และจะเพิ่มสัดส่วนต่างประเทศมากขึ้น เพราะสินค้าหลายตัวขายดีในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเราผลิตสินค้าสอดคล้องกับ demand ของเขา

Advertisment

เช่น แพ็กเกจจิ้งต้องรีไซเคิลหมด ที่สำคัญ SCG มี core value ที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม ปลูกฝังพนักงานกว่า 5 หมื่นคนให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะในฐานะที่เราทำอุตสาหกรรมหนัก ใช้พลังงาน และปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก คิดเป็น 7-8% ของทั้งประเทศ จึงต้องแสดงความรับผิดชอบ

และจะต้องลดคาร์บอนอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573

Advertisment

“หากถามว่า ESG เป็นโอกาสหรือไม่ วันแรก ๆ ผมไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แต่เน้นดำเนินธุรกิจให้ครบตามข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น 4-5 ปีที่แล้ว เริ่มเข้าร่วมสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) แล้วเขาบังคับให้เรากำหนดเป้าหมาย net zero

ถ้าทำไม่ได้จะหลุดจากการเป็นสมาชิก แต่ตอนนี้ผมมองว่าเทรนด์โลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ทั้งคนรุ่นใหม่และ supply chain ต่างตื่นตัว ดังนั้น ESG จึงเป็นโอกาส ถ้าทำได้เร็ว ทำได้หนักแน่น และสามารถเป็นผู้นำในเซ็กเตอร์ดี จะส่งผลให้ขายของได้ ยืนอยู่ได้ มองหน้าผู้อื่นได้ และดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ได้”

สู่ธุรกิจสีเขียว-ลดความเหลื่อมล้ำ

“รุ่งโรจน์” กล่าวด้วยว่า SCG ปรับกระบวนการผลิตดังนี้ หนึ่ง มุ่งสู่ net zero เช่น 3 ปีที่ผ่านมา ลดการใช้ถ่านในกระบวนการผลิต โดยเปลี่ยนมาใช้ชีวมวล (biomass) และพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมใช้ถ่าน 85% ตอนนี้ใช้ 60% โดยโรงงานดีที่สุดของเราใช้ถ่านเพียง 45% สอง go green สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เช่น ปูนไฮบริด เวอร์ชั่นแรกเป็นปูนที่ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ 10-15% โดยขายอยู่ 45% และต้นปี 2567 เราจะมีเวอร์ชั่น 2 ลดคาร์บอนฟุตพรินต์อีก 10-15% และเรามั่นใจว่าจะทำเวอร์ชั่น 3 ได้ ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ลงมา 40% ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปูนที่ขายในยุโรป

“ส่วนสินค้าเคมีคอล เราตั้งเป้าเรื่องของกรีนพอลิเมอร์ คือทำเม็ดพลาสติกหมุนเวียนผ่านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง ตรงนี้จะทำได้ถึงล้านตัน ในปี 2573 ซึ่งตอนนี้ทำได้ 3 แสนตันแล้ว สินค้าพวกนี้ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ สาม แพ็กเกจจิ้ง ปี 2568 ต้องรีไซเคิลได้หมด

และตอนนี้เราไปทำเรื่องไบโอเพิ่ม โดยพัฒนาร่วมกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่อมาเป็นเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ เราเรียกว่า lean ความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นเรื่องการสร้างงาน เนื่องจากธุรกิจของเรามีซัพพลายเชนค่อนข้างเยอะ เราก็ครีเอตแพลตฟอร์มขึ้นมา

เช่น แพลตฟอร์ม Q-CHANG เป็นแพลตฟอร์ม คล้ายอูเบอร์ แต่เป็นอูเบอร์ช่าง พอช่างอยู่ในแพลตฟอร์ม จะช่วยให้เขามีรายได้ ผมว่าการลดความเหลื่อมล้ำดีที่สุดคือทำให้คนมีงาน มีรายได้ จากนั้นเขาจะสามารถอยู่ในระยะยาวได้ การให้เงินเป็นเรื่องดีบางกรณี แต่ดีที่สุดคือให้งาน”

ขจัดกฎเกณฑ์มุ่งสู่เป้าหมายใหม่

สำหรับเรื่อง “ความร่วมมือ” ในช่วงที่ผ่านมา “รุ่งโรจน์” บอกว่าเอสซีจี พยายามทำงานกับภายนอกมากขึ้น ที่เห็นชัดคืออุตสาหกรรมก่อสร้าง มีการรวมกลุ่มกันคล้ายคลับ ทำเรื่อง circular economy ช่วยกันลดของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง เราทำมาแล้ว 4 ปี ประชุมทุก 4 เดือน ก็ได้ความรู้ ได้ทำงานร่วมกันด้วย

สุดท้ายคือเรื่องความโปร่งใส เพราะทุกเรื่องที่ทำ คนจะตั้งคำถามว่าทำจริงไหม ตัวเลขที่พูดสามารถตรวจสอบได้ไหม ทำแล้วลดปัญหาในสังคมได้จริงไหม ผมเน้นตรงนี้ เพราะเราพยายามทำตัวให้ดีขึ้น ที่สำคัญพูดเเล้วคนจะต้องเห็นว่าเราพูดจริงทำจริง ตรงไหนทำไม่ได้ ต้องบอกทำไมได้ ผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญมากในภาคธุรกิจ

ส่วนความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปี อย่างแรกคือ เรื่องการลงทุน ในอุตสาหกรรมซีเมนต์การผลิตปูน 1 ตัน ถ้าจะเปลี่ยนเป็น green process ต้องใช้เงินประมาณ 10 เหรียญ ผมมี capacity ประมาณ 30 ล้านตัน ต้องใช้เงิน 300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

สอง นอกจากการลงทุนแล้ว จะมีกระบวนการอื่น ๆ ที่แพงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราต้องทำขนาดไหน ตรงนี้ต้องมีคนจ่าย ฉะนั้น financing gab จะเป็นคีย์หลัก ถามว่าการลงทุนนี้จ่ายได้ไหม ถ้าจ่ายไม่ได้ ใครจะจ่าย ลูกค้าจ่ายได้ไหม หรือจะมีแบงก์ให้กู้ หรือจะมีอะไรต่าง ๆ ที่จะมาเปลี่ยนกระบวนการนี้ได้

เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เป็นคอมมิวนิตี้ ของเอสซีจี ส่วนใหญ่การลงทุนจะมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับราคาของที่เราขายได้ ไม่เหมือนเสื้อผ้า ฉะนั้น financing จึงเป็นความท้าทายแรก ๆ

สาม ตลาดจะยอมรับตรงนี้ไหม สี่ เทคโนโลยีมีดีกว่านี้ไหม ที่จะสามารถทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้ ท้ายที่สุดคือกฎเกณฑ์ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะถ้ากฎเกณฑ์ไม่เปลี่ยน ไม่มีใครคิดแบบเราทุกคน ผู้ผลิตบางรายอาจบอกไม่ไหว เนื่องจากยังมีคนที่ใช้แบบเดิม จึงต้องดูว่าเขาพร้อมจะเปลี่ยนไปด้วยกันไหม ถ้าเปลี่ยนด้วยกันหมด ก็ไปด้วยกันได้

ฉะนั้น เรื่องกฎเกณฑ์จากภาครัฐจะมีผลตรงนี้ และตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มออกกฎเกณฑ์มากำกับบ้างแล้ว ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทาย ทั้งภาคธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) ด้วย

“ผมจึงคิดว่าธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาส ธุรกิจใหญ่มีโรงงาน มีโมเดลเยอะ ถ้าจะเปลี่ยนผมรู้สึกต้องใช้เวลามากกว่า โอกาสออกตัวในการเปลี่ยนยากกว่า ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจมีข้อเสียเปรียบเรื่องต้นทุนต่าง ๆ แต่โอกาสเปลี่ยนมีมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงประสบการณ์ของเรา ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถสั่งให้เปลี่ยนกระบวนการทั้งหมด ถ้าสั่งได้ก็ง่าย

แต่คนที่จะช่วยเปลี่ยนจริง ๆ มาจากพนักงาน ต้องยอมรับว่าในการเปลี่ยนแต่ละอย่าง ไม่ได้มีสเต็ปการเปลี่ยน 100% แต่ต้องรู้ทิศทาง รู้กระบวนการเปลี่ยนถึงจะทำได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าคนคือ 90% ที่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ส่วนอีก 10% คือ commitment จากผู้บริหาร ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นบริษัทที่ตั้งเป้าอย่างเดียว แต่ไม่สามารถทำอะไรตามเป้าได้”