SEAC ชวนปรับไมนด์เซต ผู้นำทันการเปลี่ยนแปลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การแข่งขันในแวดวงธุรกิจ เปรียบได้กับในสนามแข่งรถยนต์ ที่มีความท้าทาย ทั้งสภาพอากาศ ทางตรง และทางโค้ง ซึ่งคนขับคือผู้นำองค์กรที่จะต้องขับรถแข่ง โดยตระหนักว่าต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ถึงเส้นชัยเร็วที่สุด บางองค์กรมีผู้นำที่แข็งแกร่ง พร้อมฟันเฟืองที่ใช่ ก็ทะยานแซงทุกโค้ง หรือบางองค์กรเผลอผ่อนคันเร่งเพียงเสี้ยววิฯ ก็ถูกคู่แข่งแซงทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นได้อย่างง่ายดาย

ด้วยเหตุนี้ SEAC (ซีแอค) จึงจัดงาน “Racing Towards Excellence, Achieving Outstanding Outcomes ทะยานสู่ความสำเร็จ ด้วยสมรรถนะที่ก้าวเกินขีดจำกัด” ในธีมการแข่งขันรถสูตร 1 (Formula 1 หรือ F1) พาผู้เข้าร่วมเรียนรู้เสริมสมรรถนะให้สองฟันเฟืองสำคัญอย่าง mindset-วิธีคิด และ leadership-ภาวะผู้นำ

โดยมี 2 สถาบันพัฒนาคนและองค์กรระดับโลกอย่าง The Arbinger Institute ผู้สร้างหลักสูตรเสริมสร้างวิธีคิด outward mindset และ Blanchard สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำให้แก่องค์กรทั่วโลกมาแบ่งปันแนวทาง

ไมเคิล เจ. เมอร์แชนท์
ไมเคิล เจ. เมอร์แชนท์

ไมนด์เซตต่อการเปลี่ยนแปลง

“ไมเคิล เจ. เมอร์แชนท์” ที่ปรึกษาผู้บริหารระดับสูง The Arbinger Institute อธิบายว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ยั่งยืนเริ่มต้นจาก mindset เพราะเปรียบเสมือนเลนส์ที่เราใช้ในการมองโลกและใช้ตัดสินสิ่งต่าง ๆ

จากงานวิจัยพบว่า บริษัทที่เปลี่ยนที่ไมนด์เซตก่อนพฤติกรรม จะได้รับผลลัพธ์ดีกว่าถึง 4 เท่า โดยแบ่งไมนด์เซตได้ 2 ประเภทคือ หนึ่ง inward mindset หมายถึงการมองโลกผ่านเลนส์ที่มีเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก มองคนอื่นเป็นเพียงวัตถุ พาหนะ และอุปสรรค เป็นแค่เครื่องมือที่อาจช่วยให้ตนเองประสบความสำเร็จ สอง outward mindset หมายถึงการมองเห็นเป้าหมาย ปัญหา และความต้องการของคนอื่นสำคัญ ไม่แพ้เป้าหมายและความต้องการของตัวเอง

“คนหนึ่งคนสามารถมีทั้ง inward mindset และ outward mindset ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะตอบโต้และปฏิบัติกับสถานการณ์นั้นอย่างไร การทำงานด้วย inward mindset จะทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่แคร์ว่าอีกคนจะมีปัญหาและเป้าหมายอย่างไร ส่วน outward mindset จะทำงานแบบประสานงานกับคนอื่น ไม่กล่าวโทษกัน ปรับพฤติกรรมของตนเอง เพื่อช่วยกันทำงานให้ราบรื่น มองเห็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน และมุ่งมั่นพาองค์กรไปยังเป้าหมายนั้นให้ได้”

โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า S.A.M. ซึ่งหมายถึง S-see others คือเข้าใจเป้าหมาย อุปสรรค และความท้าทายของผู้อื่น A-adjust efforts กลับมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อช่วยเหลือ
ให้เขาบรรลุเป้าหมาย M-measure impact ประเมินว่าความพยายามของเราเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และไม่สูญเปล่า

ทั้งนี้ การสร้าง outward mindset ให้เป็นวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างยั่งยืน เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันจบสิ้น โดยต้องเริ่มจากผู้นำองค์กร ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ผลักดันวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้คนมี outward mindset โดยปรับใช้

ในสิ่งง่าย ๆ ที่เคยทำอยู่แล้ว อย่างการนำหลัก S.A.M. เข้าไปใช้ในงานประชุมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำ outward mindset ไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องอาศัย self-awareness การตระหนักรู้ในตัวเอง accountability การรับผิดชอบต่อเป้าหมาย และ collaboration การทำงานร่วมกันจากพนักงานแต่ละคน

ซึ่งถ้าทุกคนในองค์กรมี outward mindset เข้าใจความต้องการซึ่งกันและกัน เข้าใจเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน และทำงานร่วมกัน องค์กรก็จะบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้แบบทวีคูณ

สกอตต์ แบลนชาร์ด
สกอตต์ แบลนชาร์ด

ภาวะผู้นำที่ดี

ด้าน “สกอตต์ แบลนชาร์ด” ประธาน Blanchard กล่าวว่า ภาวะผู้นำไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำปฏิบัติต่อคน แต่คือสิ่งที่ผู้นำทำร่วมกับคน ผู้นำต้องไม่หยุดเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดย 6 หัวใจสำคัญของการเป็นสุดยอดผู้นำ มีดังนี้

หนึ่ง ผู้นำย่อมเป็นพันธมิตร ปฏิบัติตัวกับคนใต้บังคับบัญชาในฐานะผู้ที่จะเดินทางพิชิตเส้นชัยไปด้วยกัน เพราะผู้นำไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ดังนั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานก่อน

สอง ผู้นำต้องรู้จักจับถูก เรียนรู้ความสามารถของลูกน้อง วางตัวคนทำงานให้เหมาะสมกับงาน เพราะเป็นการสร้างแรงใจให้กับพนักงาน สร้างความเชื่อใจระหว่างคนในทีม โดยมีพื้นที่ให้สามารถผิดพลาด เรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้น

สาม ผู้นำใช้ความรักขับเคลื่อนทีม ผลวิจัยบอกว่า หากพนักงานรู้สึกไม่ดีต่อหัวหน้า โดนตำหนิบ่อย ก็มักจะใช้พลังงานไปกับการต่อต้านและคิดลบในหัว มากกว่าการทำงานให้ได้ผลดี ฉะนั้น การเป็นหัวหน้าจึงมาพร้อมกับหน้าที่ในการเป็นที่รักของลูกน้อง เพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างการทำงานที่ดีขึ้นมา

สี่ ผู้นำจะอยู่เคียงข้างเสมอ คอยผลักดัน และช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาอยู่ตลอด ทำให้คนเกิดความไว้ใจ และสามารถโฟกัสกับภาระงานของตัวเองได้เต็มที่ มากกว่าผู้นำที่ปล่อยให้ลูกน้องเผชิญปัญหาลำพัง

ห้า ผู้นำต้องรู้จักปรับตัว การเข้าใจคนในทีม ทั้งด้านทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่ควรมี เพื่อให้ปรับตัวและเข้าใจวิธีการผลักดันลูกน้องได้อย่างตรงจุด

หก เส้นทางสู่การเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมไม่มีเส้นชัย การเข้าใจเรื่องนี้จะทำให้ผู้นำสามารถพัฒนาตนเองไปได้เรื่อย ๆ

“การเป็นผู้นำที่ดี ไม่ใช่การเป็นคนที่เก่งทุกเรื่อง หรือสามารถตัดสินใจได้ทุกเรื่อง แต่คือคนที่เข้าใจธรรมชาติของการทำงานเป็นทีม โดยอาศัยความเชื่อใจเป็นจุดเริ่มต้น สร้างบรรยากาศการทำงานให้ดีจนทุกคนในทีมคิดว่าสามารถพึ่งพากันได้ ซึ่งนี่อาจเป็นงานที่ยาก และทำให้ท้อได้ง่ายเช่นกัน บริษัทจึงจำเป็นต้องให้มีการอบรมผู้นำ เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนที่เหมาะสมรับหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

“Janil Jose Samson” ผู้อำนวยการกลุ่มความสามารถองค์กร บริษัท ไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ไมเนอร์ฯเริ่มเรียนหลักสูตร Servant Leadership กับซีแอคเมื่อปี 2017 ภายในองค์กรเราจัดให้มีการโค้ชชิ่ง โดยผู้นำแต่ละทีมอาจจะเป็นการสนทนาที่ยาวนาน หรือสั้น

สิ่งสำคัญคือ คุณภาพของการสนทนา และการเลือกบทสนทนาที่เหมาะสม เข้าใจบริบทของพนักงานแต่ละคน ในส่วนของการพัฒนาผู้นำ ผู้นำส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร อาจจะเพราะมีอีโก้ ผู้นำทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะให้ฟีดแบ็ก และรับฟังฟีดแบ็กไปพร้อมกัน โดยมีสิ่งสำคัญคือ fit for purpose คือ การเข้าใจคน เข้าใจสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

นับว่า SEAC ชวนผู้นำปรับ mindset–leadership ซึ่งเป็น 2 กลไกสำคัญพาองค์กรวิ่งเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และมีการแบ่งปันแนวทางขับเคลื่อนบุคลากรในองค์กรให้ทั้งเร็ว แรง แซงได้ทุกโค้ง ที่ค้นพบจากการให้คำปรึกษาแก่องค์กรทั่วโลก เติมเชื้อเพลิงชั้นเลิศให้ผู้นำที่เข้าร่วม มุ่งสู่ความสำเร็จ ภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือดในยุคนี้ และยังได้รับฟังเสวนาวิถีแห่งการนำไปใช้ จากองค์กรที่ทรานฟอร์มได้สำเร็จ ผ่านประสบการณ์ของผู้นำการขับเคลื่อนตัวจริง