เช็กข้อเรียกร้องนายจ้าง ถึงนายกฯคนใหม่ พรรคเพื่อไทย มีอะไรบ้าง

แรงงานต่างด้าว

กลุ่มนายจ้างชง 3 ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว 1. เปิดศูนย์ one stop 2. ลดค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาต 3.ลดเงื่อนไขการรายงานตัว 90 วัน

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่จะบริหารประเทศ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กว่า 1.9 ล้านคนอยู่ระหว่างกระบวนการจดทะเบียน และต่อใบอนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 กุมภาพันธ์ 2566 และต้องลงตราวีซ่าภายใน 15 พฤษภาคม 2566

ซึ่งทาง ครม. ได้ยืดระยะเวลาให้แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำเอกสารให้เสร็จ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าเหลือแรงงานจำนวนเท่าใดที่ดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว และยังไม่มีมติ ครม.หรือมาตรการใด ๆ มารองรับ

ด้วยความต้องการการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ที่นับว่ายังมีตัวเลขที่สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจไทย เพราะลักษณะงานบางอย่างคนไทยไม่นิยมทำ นายเอกสิทธิ์จึงชง 3 ข้อเสนอ ฝากรัฐบาลใหม่ ดังนี้

เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล
ที่มาภาพ: facebook/ECOTthailand

1. ขอให้มีการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers หรือ OSSCs) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงาน ลดภาระเรื่องการเดินทางไปหลาย ๆ ที่เพื่อขอกใบอนุญาต ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายและเวลา สามารถดำเนินการยื่นคำร้อง ตรวจสุขภาพ ลงตราวีซ่า และรับใบอนุญาตทำงานพร้อมกับบัตรสีชมพู ได้ในจุดเดียวและภายในวันเดียว

2. ลดค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาต อัตราค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโดยสมบูรณ์ ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเรียกเก็บเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ การใช้บริการคนกลาง หรือบริษัทในการช่วยดำเนินการเดินเอกสารอาจยังมีความสำคัญ เพราะขั้นตอนกระทำเอกสารที่ยุ่งยาก แต่อาจส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมีข้อจำกัดเรื่องค่าวีซ่า และเป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนสถานะเข้าเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย

จึงจำเป็นที่รัฐควรจะกำหนดเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริการ ในปัจจุบันการจดทะเบียนแรงงาน ไม่มีการกำกับดูแลการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนแรงงานจึงควรได้รับการกำกับดูแลโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

3. การลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติยังคงสถานะเข้าเมือง เนื่องจากนายจ้างและแรงงานต่างมีหน้าที่แจ้งเข้าแจ้งออกการทำงานต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และในระหว่างที่แรงงานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องแจ้งที่พักอาศัยและรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุก ๆ 90 วัน รวมถึงผู้ให้ที่พักต่อคนต่างชาติก็มีหน้าที่ต้องแจ้งการให้ที่พักด้วย

จึงควรใช้กรอบการพิจารณาใหม่ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่น ๆ หรือจากชาติอื่น ๆ อาจเริ่มจากการผ่อนปรนเงื่อนไขการรายงานตัว 90 วัน ซึ่งได้เห็นแล้วว่ามีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวกับผู้ถือวีซ่าประเภท smart visa ที่ให้รายงานตัวเพียงปีละหนึ่งครั้ง

ไม่นำมิติความมั่นคงของรัฐมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดเพราะแรงงานจดทะเบียนภายในประเทศมีนายจ้าง และมีงานทำเป็นหลักแหล่ง การบริหารคนกลุ่มนี้ควรสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือเทียบเท่าการเข้าเมืองประเภทอื่น ๆ