นายจ้าง-ลูกจ้าง เตรียมเลือกตั้ง “บอร์ดประกันสังคม” ครั้งแรก แทนชุด คสช.

เลือกตั้ง

นายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 ม.39 และ ม.40 เตรียมเลือกตั้ง “บอร์ดประกันสังคม” ครั้งแรก แทนชุด คสช. เซตไทม์ไลน์ ธันวาคม 2566

วันที่ 13 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ด สปส. มาจากการเลือกตั้งจากระบบของผู้แทนของสหภาพแรงงานเลือก แต่พอมีรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งยุบบอร์ดเดิม แล้วแต่งตั้งบอร์ดใหม่มาแทน จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีเลือกตั้งมาราว 9 ปี

ล่าสุด นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เผยหลังการประชุมการจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งที่ 1/2566 ว่า คณะทำงานได้เชิญทาง กกต. และกระทรวงมหาดไทยเข้ามาร่วมวางแนวทาง มีการเซตไทม์ไลน์การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมแล้ว เป็นในเดือนธันวาคม 2566 แต่วันที่ยังไม่ได้กำหนดแน่ชัด

“เดิมทีจะจัดเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2566 แต่ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานเร่งกระทรวงแรงงานให้ดำเนินการมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เพิกถอนกฎระเบียบเลือกปฏิบัติแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนนี้ได้ข้อสรุปว่า จะให้สิทธิคนไทยเลือกตั้งได้เท่านั้น”

ผู้มีสิทธิเลือกบอร์ดประกันสังคม ได้แก่ ผู้ประกันตน 3 มาตรา จำนวนกว่า 20 ล้านคน ประกอบด้วย ม.33 ม.39 และ ม.40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมกว่า 5.4 แสนราย โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน

ส่วนรูปแบบการลงคะแนน จากที่เคยพิจารณาจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ที่ประชุมคณะทำงานกังวลว่า จะเกิดข้อมูลรั่วไหล จึงมีมติให้ลงคะแนนในคูหาเท่านั้น โดยตั้งงบประมาณในการเลือกตั้งไว้ 100-200 ล้านบาท ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ที่ตั้งไว้ 700-800 ล้านบาท