ภารกิจเพื่อความยั่งยืน ถึงคราวเปลี่ยนธุรกิจเพื่อโลกที่ดีกว่า

The Cooler Earth Summit หรือ TCE Summit ถือเป็นการประชุมสุดยอดด้านความยั่งยืน ที่ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป (CIMB Group) จัดในหลายประเทศคือ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ไทย และกัมพูชา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อโลกที่ยั่งยืน

สำหรับที่ประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) เป็นเจ้าภาพจัด Sustainability Conference 2023 Thailand ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention Center : UNCC) โดยใช้ธีม “เปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อโลกที่ดีกว่า” (Transitioning Business for a Better World)

ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลากหลายองค์กรชั้นนำมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ เช่น “พอล วอง ชี คิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน สหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

พอล วอง ชี คิน
พอล วอง ชี คิน

สร้างโลกยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลัง

“พอล วอง ชี คิน” กล่าวว่า ปี 2023 โลกเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น คลื่นความร้อนในทวีปยุโรป และอเมริกา หรือแม้แต่น้ำท่วมในฮ่องกง ซึ่งหนทางในการลดปัญหาเหล่านี้คือการสร้างความยั่งยืน โดยความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการปรับตัว และสร้างนวัตกรรมอย่างไม่ลดละในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนไปถึงคนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ สถาบันการเงินเป็นองค์กรฝังตัวอยู่ในทุกชุมชน จึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่การดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมให้คู่ค้าเพื่อความยั่งยืนเช่นเดียวกัน

“CIMB Thai จึงร่วมขับเคลื่อนให้สังคมเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนในหลากหลายมิติ ผ่าน The Cooler Earth Summit : Sustainability Conference 2023 Thailand ซึ่งเป็นกลไกที่รวมพลังผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก มาร่วมหาวิธีกำหนดอนาคตที่ยั่งยืน

ทั้งยังเป็นการสร้างความตื่นตัวแก่องค์กรธุรกิจในเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมกับผลักดันให้เกิดแนวทางการแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หาความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนรับกระแสโลกาภิวัตน์และการค้าระหว่างประเทศ”

ถึงแม้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ที่น่ายินดีคือเราเห็นผู้คนคำนึงถึงความยั่งยืนในชีวิตประจำวันมากขึ้น ธนาคารในฐานะภาคธุรกิจ จำเป็นต้องให้แน่ใจว่าเราตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และในธนาคารมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม

วิสัยทัศน์ 3 ข้อ CIMB

“พอล วอง ชี คิน” กล่าวถึง 3 หลักการสำคัญที่ CIMB Thai กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ประกอบด้วย

หนึ่ง ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงคำศัพท์ แต่เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ ทั้งยังฝังอยู่ใน DNA ของพนักงาน CIMB Thai โดยภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุน และการสร้างวิสาหกิจที่ยั่งยืน ดังนั้น CIMB Thai จึงเดินตามเป้าหมายของ CIMB Group ที่ขยายวงเงินส่งเสริมด้านความยั่งยืนไว้ที่ 1 แสนล้านริงกิต (ประมาณ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ)

และหลังจากบรรลุเป้าหมาย 3 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 143 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไปแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี สะท้อนว่ากลุ่มซีไอเอ็มบีมุ่งมั่น แน่วแน่ ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ และความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ

สอง การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน และการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม CIMB ขับเคลื่อนองค์กรด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจน พยายามอย่างมากที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน และต้องให้มั่นใจว่าผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของ CIMB ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน โดยปี 2023 CIMB Thai เป็นหนึ่งในธนาคารไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่พัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกด้าน

นอกจากนี้ ยังตรวจสอบสถานะผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชนจากผู้ขายไปจนถึงระดับลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชนต้องลดลง ดังนั้น การประชุม The Cooler Earth Summit ครั้งที่ 4 ของ CIMB เมื่อปี 2022 หัวข้อ Facilitating a Just Transition จึงเกิดวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องนี้

สาม ร่วมมือกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก เพราะความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน CIMB มักมองหาความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่มีใจเดียวกัน เพื่อขยายพลังของความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใคร หน่วยงานไหนแก้ปัญหาเพียงลำพัง ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม CIMB ส่งเสริมกรอบความคิดในการทำงานร่วมกันในบุคลากร

โดย CIMB Thai มีค่านิยมภายในองค์กรที่ชื่อ “EPICC” อันเป็นตัวอย่างสำคัญของการรวมพลัง โดยมีโครงการ “Run to Win” ที่พนักงาน CIMB Thai และบริษัทในเครือวิ่งสะสมระยะเพื่อระดมทุนบริจาคให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

“ผมอยากเน้นย้ำว่าความยั่งยืนไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังต้องทุ่มเท มีวิสัยทัศน์ และเต็มใจที่จะปรับตัวสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ดังนั้น หากร่วมมือกัน เราจะพลิกธุรกิจให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้พรุ่งนี้มีความเท่าเทียม ยืดหยุ่น และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผมขอฝากถ้อยคำของมหาตมะ คานธี ที่บอกว่า ‘The future depends on what you do today.’ อนาคตขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำวันนี้ ขอให้พวกเราคว้าโอกาสนี้ สร้างอนาคตที่สดใสด้วยกัน”

กระบวนทัศน์เพื่อความยั่งยืน

“กีต้า ซับบระวาล” กล่าวว่า ภาคเอกชนไทยสามารถร่วมเป็นผู้นำการกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีความยั่งยืน (green transition) ที่สอดคล้องกับวาระ BCG ของรัฐบาลไทย โดยส่งต่อการมีส่วนร่วมในฐานะนักลงทุน ธนาคาร และผู้จัดการสินทรัพย์ เมื่อเราเผชิญกับวิกฤตโลก

รวมถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลมีความกดดันภูมิศาสตร์ และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความท้าทายที่ร้ายแรงกว่านั้นคือภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะอุณหภูมิปัจจุบันสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“เราจำเป็นต้องเร่งการถอดรหัสอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง และต้องเปลี่ยนไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน และใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ในเวลาเดียวกันต้องติดตามผลการดำเนินงานข้อผูกพันระดับโลก เช่น ข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ ประเทศไทยทำได้ดีในการใช้ประโยชน์จากเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันระดมทุนได้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

ซึ่งเงินทุนจากส่วนนี้มุ่งตรงไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เราสามารถรักษาโมเมนตัมเพื่อเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศให้ฟื้นตัวได้ และประเทศไทยต้องสนับสนุนองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กในความพยายามในการสร้างระบบหมุนเวียน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น”

ที่สำคัญ ภาครัฐสามารถเป็นตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม บริษัทขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อห่วงโซ่อุปทานก็สามารถส่งเสริมความยั่งยืนทั่วทั้งกระดาน และเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกให้เย็นลงได้ในที่สุด

เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

“พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” กล่าวว่า กรุงเทพฯติดอันดับหนึ่งที่ 1 ของโลกในด้านสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้คนจากทั่วโลกจึงอยากมาที่นี่เพื่อใช้วันหยุด ขณะเดียวกัน ไทยก็อยู่อันดับ 98 ที่คนอยากมาอยู่อาศัย ดังนั้น หมายความว่าผู้คนอยากมากรุงเทพฯ เพื่อท่องเที่ยวสัก 2-3 วัน หรืออาจ 2-3 สัปดาห์

เพราะเรามีวัดที่สวยงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แต่หากจะใช้ชีวิตอยู่ถาวร คนส่วนใหญ่อาจไม่เลือก เพราะปัญหาการจราจรที่ติดขัด บวกกับปัญหาจากสภาพอากาศ เช่น PM 2.5, ท่วมฉับพลันและพายุ เป็นต้น

“เดือนกันยายน 2565 ผ่านมา เรามีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 150% ปริมาณฝนตกมากขนาดนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ปัญหา PM 2.5 เกิดจากเผาป่า และรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซต่าง ๆ ที่สามารถสลายตัวเป็น PM 2.5

ดังนั้น วิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน (a liveable city for all) เพราะในอดีตเราอาจเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างการเติบโต”

“แต่การทำให้คนรวยไม่ได้ทำให้ทุกอย่างโอเค และไม่ได้ครอบคลุมทุกด้าน หากผู้คนมั่งคั่ง แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสถานที่ดี ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีพื้นที่สีเขียว เท่ากับว่าคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ความตั้งใจหลักของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมุ่งเน้นไปที่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน เป็นความท้าทายหนึ่งที่เราต้องรับมือ ซึ่งความยั่งยืนนั้นเชื่อมโยงอย่างมากกับเศรษฐกิจเช่นกัน”

ดังนั้น ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมอันท้าทาย และซับซ้อน เราทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง