8 ธ.ค. สรุปค่าแรงขั้นต่ำปี’67 ก่อนนำเข้า ครม. ขึ้น 400 บาทหรือไม่?

ค่าแรง แรงงาน

บอร์ดไตรภาคี ตัวแทนภาครัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง ประชุมข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2567 ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22” โดยคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี มีตัวแทนจากภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เพื่อพิจารณาข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับปี 2567 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ค่าแรงอาจไม่เท่ากันแต่ละจังหวัด

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวไว้ว่า กระทรวงแรงงานจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศไทย และสำหรับอัตราขึ้นค่าแรงจะไม่เท่ากันทั่วประเทศ

“การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ อาจจะไม่เพิ่มถึงวันละ 400 บาท แต่ก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันยังช่วยให้นายจ้างไม่ได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากในประเทศไทย

และหากปรับขึ้นมากสูงถึงวันละ 400 บาท จะกระทบต่อการเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนของสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างงวดต่อไปช่วงสิ้นปี 2567 อาจจะมีโอกาสเห็นค่าจ้าง 400 บาทได้ แต่ก็เป็นการขึ้นเพียงบางจังหวัดเท่านั้น”

(อย่างไร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต้องรอฟังข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ 8 ธ.ค. 2566 อีกครั้ง)

บางจังหวัดไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ย้อนไปในปี 2565 กระทรวงแรงงานมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลลูกจ้างในหลายจังหวัดพบว่า มีมากถึง 31 จังหวัดที่แสดงเจตจำนงต่อกระทรวงแรงงานว่าไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และปี 2564 พบว่า มี 44 จังหวัดที่แจ้งว่าไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะส่วนใหญ่เกรงว่าจะมีความเสี่ยงตกงานในภายหลัง รวมทั้งไม่อยากย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น ซึ่งจะมีต้นทุนสูงกว่า ทั้งค่าเดินทาง และค่าเช่าบ้านด้วย

ย้อนรอยการปรับขึ้นค่าจ้าง

ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มล่าสุด มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565 โดยการปรับขึ้นแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2563 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313 บาท, 315 บาท, 320 บาท, 323 บาท, 324 บาท, 325 บาท, 330 บาท, 331 บาท, 335 บาท และ 336 บาท