ไม่นานผ่านมา มูลนิธิสังคมสุขใจ เปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์” ด้วยการชวนภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมผลักดันประเทศไทยพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการบอกโลกว่า “สังคมอินทรีย์ยั่งยืน” ไม่ใช่เทรนด์, กระแส และไม่ใช่ทางเลือก
แต่เป็น “ทางรอด” สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน ยิ่งถ้ากระตุ้นให้คนทั้งห่วงโซ่ร่วมกันลงมือทำ ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
“อรุษ นวราช” เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจและนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA กล่าวว่า วันนี้เห็นภาพของพันธมิตรที่มาร่วมมือกัน ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ข้อ 17 Partnership for the Goal เพราะการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์จะเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าพวกเราไม่ร่วมมือกัน สำหรับ TOCA มีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคไปพบเกษตรกรอินทรีย์ตัวจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่น เกิดสังคมอินทรีย์บนฐานของการค้าที่เป็นธรรม
“เพราะวันนี้วิถีอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ยิ่งเมื่อ UN บอกว่าโลกกำลังเดือด เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกินกว่าที่จะเรียกว่าโลกร้อนแล้ว เราทุกคนจึงต้องเร่งช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ที่ผ่านมา TOCA พัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษา ผ่าน TOCA Platform โดยคาดว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าจะสามารถสร้างตัวชี้วัดให้เห็นได้ชัดเจน ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมอินทรีย์มีผลต่อการลด Carbon Footprint มากน้อยเพียงใด”
“ยงยุทธ สวนทอง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวเสริมเรื่องการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ในจังหวัดนครปฐมว่า เนื่องจากนครปฐมเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้นทางของวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ และมีร้านอาหารอร่อยหลากหลาย ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย
โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เชื่อว่าการรวมพลังของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมอินทรีย์ที่มูลนิธิสังคมสุขใจดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครปฐมให้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ “สุรัชสานุ์ ทองมี” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคกลาง หรือ TCEB กล่าวว่า TCEB มีบทบาทสำคัญข้อหนึ่งคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งานแสดงสินค้าเป็นแพลตฟอร์ม ซึ่งงานสังคมสุขใจเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์มาร่วมกว่า 200 บูธ
โดยงานนี้ TCEB มีภารกิจในการจัดการเจรจาธุรกิจ หรือ Business Matching สนับสนุนให้เกิดตลาดใหม่ ๆ จากเดิมที่ผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์หรือเกษตรกรอินทรีย์เน้นการขายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรง ให้มาขยายการขายส่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรมต่าง ๆ ได้
“ผ่องพรรณ ศิริวัฒนาวงศา” ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น มีความต้องการอาหารที่ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ สำคัญคือต้องยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม และดูแลชุมชน ที่ผ่านมา ททท.จัดกิจกรรม
โดยร่วมกับ TOCA ส่งเสริมให้เชฟรุ่นใหม่ ๆ สร้างสรรค์เมนูใช้วัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีประโยชน์ และน่ารับประทาน รวมทั้งการทำคอนเทนต์ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารอินทรีย์ รวมถึงการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์
“วิวรรธน์ สงประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อีกหนึ่งองค์กรภาครัฐที่ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์กล่าวว่า สำนักงานดูแลพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 40 ล้านไร่ มีเกษตรกรประมาณ 3 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30 ล้านคน โดยเรื่องเกษตรอินทรีย์มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ปีละประมาณ 5 หมื่นไร่ จึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“พลาย ภิรมย์” Head of Environment Division บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ให้เกิดผลจริงจังนั้น เป้าที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ต้องไม่ใช่เป็นเทรนด์ แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืน ให้ทุกคนหันมาบริโภคอินทรีย์ เพราะเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรที่ยั่งยืนไม่ทำร้ายโลก
“เซ็นทรัลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก มีโครงการที่ดูแลตั้งแต่การผลิต การเชื่อมโยงชุมชน รวมทั้งขยายผลไปในชุมชนต่าง ๆ อีกทั้งสนับสนุนด้านการตลาด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนัก และเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนตนเอง และมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง”
ขณะที่ “ทวีศักดิ์ อ่องเอี่ยม” เกษตรกรกลุ่มบางกระเจ้าเกษตรอินทรีย์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศระดับเขต ในโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง กล่าวว่า เกษตรกรสามารถนำความรู้ของตนเองมาปรับประยุกต์และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยให้เกิดความสำเร็จได้
วันนี้มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์มากมาย เกษตรกรแต่ละคนมีความถนัด ความเก่งคนละเรื่องคนละแบบ นำความรู้มาแบ่งปันกัน ช่วยกันพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายสังคมที่สุขใจอย่างแท้จริง เพราะการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ให้สำเร็จได้ ความต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญ
ดังนั้น มูลนิธิสังคมสุขใจ และ TOCA จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ล่าสุดผนึกกำลัง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรอินทรีย์ร่วมกันจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์” เปิดพื้นที่ให้คนอินทรีย์ทั้งห่วงโซ่มาพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ซื้อขายสินค้า และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ในงานช็อปจุใจกับ 9 ไฮไลต์กิจกรรม เต็มอิ่มกับองค์ความรู้มากมาย สนุกกับเวิร์กช็อปดีดี และช็อปสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีจากเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 200 บูธ ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2567 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น