ผลสำรวจอนาคตการเติบโตทั่วโลก ไทยอยู่ลำดับ 51 ตามหลังอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS)
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS)

บัญชีจุฬาฯ (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum เผยผลการประเมินอนาคตการเติบโตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบประเทศไทยมีอัตราการเติบโตในระดับน่าเป็นห่วง อยู่ลำดับ 51 ของโลก ตามหลังเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์-มาเลเซีย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย ชี้มิติความยั่งยืนรั้งท้ายโลก ฉุดรั้งอันดับการเติบโต 

วันที่ 22 มกราคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) เป็นองค์กรหนึ่งเดียวของไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ในการจัดทำและเผยแพร่รายงานอนาคตการเติบโต The Future of Growth Report 2024 เพื่อวัดคุณภาพการเติบโตของประเทศต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก 

จากผลการสำรวจพบว่า การเติบโตของประเทศไทยอยู่ค่อนไปทางครึ่งหลังของโลก โดยภาพรวมเราอยู่ลำดับที่ 51 โดยอันดับหนึ่งในโลก ได้แก่ ประเทศสวีเดน ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ส่วนในแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นนำโด่งในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี ลำดับที่ 12 และสิงคโปร์ ลำดับที่ 16 ในขณะที่ มาเลเซียมาลำดับที่ 31 เวียดนาม ลำดับที่ 36 อินโดนีเซีย ลำดับที่ 50 และไทย ลำดับที่ 51

WEF

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศกล่าวต่อว่า แนวทางการพิจารณาการเติบโตของประเทศ ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านความรวดเร็วในการเติบโตเท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นในด้านคุณภาพของการเติบโตด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีการสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในระยะยาว โดยปัจจัยที่สำคัญของอนาคตการเติบโตของประเทศตาม World Economic Forum ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ ด้านนวัตกรรม (Innovativeness) ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่น (Resilience) 

เมื่อลงลึกในรายละเอียดจากการเปรียบเทียบผลประเมินของประเทศไทยกับผลประเมินโดยรวมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และผลประเมินของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน พบว่าประเทศไทยมีคะแนนด้านนวัตกรรม เท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรมและรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0) จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่าง ๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤตต่าง ๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป

WEF

ปัจจัยฉุดอันดับการเติบโตของไทย

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศอธิบายต่อว่า รายงานนี้เป็นการคาดการณ์ถึงการเติบโตในอนาคต ผลโดยรวมออกมาว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 7 ในเอเชีย เป็นรองจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม แต่เทียบเคียงกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าตอนนี้เวียดนามมีแนวโน้มจะแซงประเทศไทยไปไกลมากขึ้น หรือมีอนาคตที่สดใสกว่า โดยจากการทำรายงานชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นตัวฉุดรั้งอันดับของไทยใน 4 มิตินั้นมีดังนี้

“ในมิติของนวัตกรรม จะเห็นว่าเราได้คะแนนดี ถูกจัดลำดับอยู่ที่ 38 ของโลก แต่เมื่อมาดูคะแนนที่ได้รับอยู่ที่ 47.94 คะแนน ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่มากแปลว่ายังมีหลายประเทศที่นวัตกรรมไม่ได้โดดเด่นเท่าไทย เพราะประเทศไทยมีนวัตกรรมจำนวนมาก แต่ตัวที่ทำให้นวัตกรรมของเราออกมาไม่ดีคือเรื่องของสิทธิบัตร การจดทะเบียน หรือผุดนวัตกรรมออกมาแต่ไม่ไปจดทะเบียน หรือกฏหมายรับรองนวัตกรรมต่าง ๆ ของประเทศไทยยังน้อย

อีกทั้งการให้ความรู้ของคนที่ทำงานด้านนี้ก็ไม่มาก ที่สำคัญคือแรงงานไหลสู่เมืองนอกเยอะ ฉะนั้นความเป็นนวัตกรรมในประเทศทั้งหมด เราทำได้ดี แต่ว่าต้องมีความรู้ความเข้าใจกับกฏระเบียบการจดสิทธิบัตรต่าง ๆ เราต้องให้ความสำคัญกับกฏหมายรองรับนวัตกรรมมากขึ้น 

และอย่าลืมว่าเราเป็นประเทศที่เป็นผู้ใช้ ในขณะที่ประเทศที่เขาโดดเด่นด้านนวัตกรรม เพราะเขาเป็นผู้ผลิตเอง ลองดูมือถือ หรือแอปพลิเคชั่นยังไม่มีของไทยเลย ดังนั้นถ้าหากเราอยากให้อัตราการเติบโตของประเทศก้าวหน้า เราต้องสร้างนวัตกรรมกันบ้างแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้ใช้อย่างเดียว เพราะเป็นมิติที่เรามีความก้าวหน้า

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เรามีการกระจายการเติบโตทั่วถึง เรามีระบบไฟฟ้า มีอินเทอร์เน็ตกระจายทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เรายังทำไม่ได้คือความเท่าเทียมประเด็นความเท่าเทียมเราได้คะแนน 3.0 จาก 100 คะแนน เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก ในไทยเรามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเยอะมาก ตรงนี้ส่งผลถึงรายได้ของไทย ที่ยังน้อย และไม่เป็นธรรม เราต้องมานั่งคิดดูว่าจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นคนรวยก็รวยต่อ คนจนก็จนลง นอกจากนั้นการเก็บออมในระบบธนาคารยังเข้าถึงยาก ทำให้คนไปกู้นอกระบบเยอะ รัฐจะต้องมีนโยบายสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ มากขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลคือประเทศไทยเกือบรั้งไทยโลกในเรื่องของความยั่งยืน ถึงแม้ว่าเราพยายามขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืน แต่ยังเป็นประเด็นที่เราทำได้น้อย และเป็นตัวฉุดรั้งอันดับการเติบโตของเรา ในมิตินี้เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เขามีทรัพยากรน้อยกว่าเราเขาอาจจะดูแลมิติความยั่งยืนในการรักษาทรัพยากรได้ดีกว่า ซึ่งเราก็ต้องพยายามเดินหน้ากันต่อไป 

มิติความยืดหยุ่น การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ในช่วงประเมินคือ พฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จะเห็นว่าประเทศเรามีความแตกแยกทางการเมืองเยอะ มีการแตกแยกในสังคม มีความไม่กลมกลืนกัน อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น จึงทำให้ตัวอัตราการเติบโตของไทยไปไม่ไกลกว่าที่ควร”

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอรายงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศในการกำหนดแนวทางนโยบาย และกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่มีทั้งในด้านนวัตกรรม ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความยั่งยืน และด้านยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้นไป