RISC โชว์ The Forestias สร้างป่ากลางเมือง แก่นักวิจัยนานาชาติ

ประชุมระดับโลกด้านระบบนิเวศของป่าไม้

RISC ร่วมเป็นพันธมิตรหลักของการประชุมนานาชาตินักวิจัยด้านระบบนิเวศป่าไม้ ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์เชิงรุก “สร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ” พร้อมโชว์โครงการ The Forestias สร้างป่ากลางเมืองรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ร่วมเป็นพันธมิตรหลักของการประชุมระดับโลกด้านระบบนิเวศของป่าไม้ในหัวข้อ ‘Role and Fate of Forest Ecosystems in a Changing World’ ที่จัดโดยสหภาพองค์กรวิจัยป่าไม้นานาชาติ (The International Union of Forest Research Organizations หรือ IUFRO) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 

โดย RISC ได้ขึ้นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ “Nature Positive, Carbon Negative” พร้อมนำชมโครงการ The Forestias ที่อยู่อาศัยบนผืนป่ากลางกรุงเทพฯ ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานความเข้าใจและเคารพในธรรมชาติ รวมทั้งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดงานวิจัยในมิติความสัมพันธ์ระหว่างป่าและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being)

ทั้งนี้ IUFRO เป็นองค์กรนานาชาติที่ก่อตั้งมากว่า 131 ปี มีสมาชิกเป็นองค์กรกว่า 630 แห่งทั่วโลกที่ทำงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม โดยจัดการประชุมใหญ่ระดับโลกและการประชุมย่อยของนักวิจัยแต่ละกลุ่มเป็นประจำ

การประชุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้เป็นการประชุมของกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานด้านมลภาวะทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนกว่า 80 คน จาก 25 ประเทศ ทั่วโลกมารวมตัวกันนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อร่วมกันลดปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นเจ้าภาพ และได้รับการสนับสนุนจาก RISC

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), MQDC ได้นำเสนอแนวคิดและกรณีศึกษาจากประเทศไทยด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนในทุกมิติ

“ปัญหาโลกร้อนในทุกวันนี้ รุนแรงยิ่งขึ้น เราต้องช่วยกันหาแนวทางที่จะลดผลกระทบจากการใช้ชีวิตของเราต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน MQDC จึงได้สนับสนุนการศึกษา วิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นการสนับสนุนการจัดการประชุมครั้งนี้ และในการดำเนินธุรกิจหลักของเรา 

MQDC ได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมาก คือ Nature Positive, Carbon Negative คือ การดูแลระบบนิเวศและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติไปพร้อมกับการส่งเสริมวิถีชีวิตที่ไม่สร้างก๊าซคาร์บอนหรือมลภาวะ MQDC จึงเน้นนวัตกรรมที่จะพลิกโฉมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเน้น 3 แกนหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ 1)ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) การใช้ชีวิตและสาธารณูปโภค และ 3) สังคมและเศรษฐกิจ   

แม้ว่าเราเป็นหน่วยงาน เราก็ตระหนักถึงหน้าที่ของเราที่จะมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงได้ตั้งเป้าหมายว่าในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเรานั้น MQDC จะฟื้นฟูความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ด้วยจุดยืนดังกล่าว การศึกษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศได้กลายมาเป็นหัวใจในโครงการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยของ MQDC”

ดร.สิงห์ อินทรชูโต

รศ.ดร.สิงห์ ได้ยกตัวอย่างโครงการ The Forestias ที่บางนาเป็นกรณีศึกษาสำหรับนักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ ว่าโครงการ The Forestias เป็นโครงการที่พยายามบูรณาการความรู้ทุกด้าน และเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โครงการที่อยู่อาศัยที่สร้างความสุขให้ทั้งผู้ที่อยู่ในโครงการ และระบบนิเวศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ แหล่งน้ำ ดิน นก แมลง สัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน 

“โครงการ The Forestias มีป่าอยู่ในใจกลางโครงการ (Deep Forest) เป็นโซนที่ห้ามบุคคลทั่วไปเข้า เว้นแต่นักวิจัย นักนิเวศวิทยาที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลเป็นครั้งคราว ถัดออกมาเป็นโซนธรรมชาติที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ และมีอาคาร สาธารณูปโภคต่าง ๆ อยู่รอบนอกก่อนที่จะสร้างโครงการนี้ เราเชิญนักวิจัยแต่ละด้านทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาเก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพดิน น้ำ ลักษณะทางกายภาพ ชนิดของพืชพรรณ สัตว์ต่าง ๆ ก่อนที่จะออกแบบพัฒนาโครงการ 

รวมถึงการวางแผนการปลูกต้นไม้ต่าง ๆ เพิ่ม เพื่อดึงดูดสัตว์ต่างชนิดตามเป้าหมายที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกันก็ปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยด้วย การตกแต่งภายในอาคาร เน้นวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนน้อย และกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ระบบไฟ น้ำ แสงสว่างต่าง ๆ เน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ลดมลภาวะ เช่น การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกพัฒนาพันธุ์พืชที่เปล่งแสงตอนกลางคืน เพื่อเป็นแหล่งแสงธรรมชาติตอนกลางคืน เป็นต้น”

“นี่เป็นครั้งแรกที่ IUFRO มาจัดการประชุมในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก นักวิจัยระดับโลกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ให้ความสนใจมากกับแนวคิดในการนำป่ามาเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ที่ดีหรือ Well-Being และมองว่าเราเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นโครงการที่ภาคเอกชนริเริ่มในเมืองใหญ่ เป็นการนำความรู้จากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในโครงการจริง ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทย นอกจากนี้การเป็นพันธมิตรของการประชุมนานาชาติที่นี้ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านระบบนิเวศของป่าไม้ให้แข็งแกร่งด้วย” รศ.ดร.สิงห์กล่าว

ประชุมระดับโลกด้านระบบนิเวศของป่าไม้