เศรษฐกิจสีเขียว พันธมิตรชูโมเดลแก้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

Green Economy

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการร่วมกันแก้ไข เพราะส่งผลกระทบผู้คนหลายมิติ ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ด้านทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และเศรษฐกิจ

ดังนั้น หลายประเทศจึงให้คำมั่นสัญญาในการตั้งเป้าหมาย และเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ขณะนี้กำลังขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และตั้งเป้าเป็นฐานผลิตของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) การผลักดันพลังงานสะอาด และอื่น ๆ

ทั้งนี้จากงานสัมมนา “Green Economy : Next Growth and Survive” ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จึงมีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งโมเดล และรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

กางแผน Carbon Neutrality

โดยเฉพาะช่วงที่ “หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญปัญหาร่วมกัน 2 เรื่องคือโควิด-19 และสงครามที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน จึงทำให้ค่าพลังงาน และสินค้าต่าง ๆ ราคาแพงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อบริษัทใหญ่ ๆ เริ่มมองหาฐานผลิตใหม่ เนื่องจากปัญหาเรื่องการขนส่ง ดีมานด์ และซัพพลายต่าง ๆ ไม่สมดุลกัน

ยิ่งเฉพาะการมองหาประเทศที่มีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงานที่ดี หรือมีพลังงานสะอาด กล่าวกันว่า ผลตรงนี้ จึงทำให้รัฐบาลมองเห็นโอกาสเพื่ออยากให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นพิจารณาไทยเป็นลำดับต้น ๆ สุดท้ายไทยจึงมีแผนงานทำเรื่อง “Carbon Neutrality” ภายในปี 2050 โดยเริ่มต้นภายในปี 2030 ที่จะลดคาร์บอนลงประมาณ 180 ล้านตัน จาก 300 กว่าล้านตัน

“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการบ้านที่ง่ายกว่าประเทศอื่นมาก ๆ เพราะเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนแค่ 300 กว่าล้านตัน ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้น ถ่านหินผลิตไฟฟ้าของเขามากกว่า 50-70%

จะเห็นว่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของเขามโหฬาร ซึ่งเวียดนาม 2 พันล้านตัน อินโดนีเซีย 3 พันล้านตัน มาเลเซียประมาณ 1,500 ล้านตัน ล้วนแต่มีการบ้านที่ยากกว่าเราทั้งนั้น ผมจึงมองว่าเป็นโอกาสของไทย”

มุ่งสู่พลังงานสะอาด

“หม่อมหลวงชโยทิต” กล่าวต่อว่า ไทยจะเป็นประเทศที่มีพลังงานสะอาด โดยอุตสาหกรรมที่มีผลต่อ GDP ประเทศมาก ๆ ตอนนี้คือ EV ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถจากญี่ปุ่น ซึ่งใหญ่สุดในการผลิตรถยนต์ก็ได้ประกาศลงทุน EV ในไทย ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มประเทศยุโรป เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู หรือฟอร์ด ของสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งน้องใหม่จากจีน BYD เกรท วอลล์ฯ ก็เข้ามาสร้างความตื่นเต้นให้ตลาดยานยนต์ในไทยเช่นกัน

“จากสถิติในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดบอกว่าไทยบริโภคใช้ EV เกือบแสนคันแล้ว ซึ่งเกินความคาดหมายมาก เพราะเราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะถึงแสนคันภายในปี 2025 ซึ่งตัวเลขการใช้ตอนนี้สูงกว่าที่คิด จึงทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เร่งจะลงทุน และพร้อมประกาศขับเคลื่อนการผลิตในเมืองไทยมาเป็น EV มากขึ้น”

ขณะที่อุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศเราเป็นเพียงปลายน้ำคือผู้ใช้ แต่ต้นน้ำและกลางน้ำ อยู่ต่างประเทศหมดเลย ตอนนี้เขาจึงเฟ้นหาประเทศที่มีพลังงานสะอาดเป็นฐานผลิตใหม่เช่นกัน และนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักลงทุนเริ่มมีแนวโน้มจะย้ายฐานผลิตมาไทย

“นอกจากสองอุตสาหกรรมนี้ ยังมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการเกษตรก็สำคัญ รวมถึงเรื่องของดิจิทัล เรายังไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการเก็บข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ หรือคลาวด์ดาต้าเซนเตอร์ อนาคตจะเริ่มเปลี่ยน เพราะ Amazon Web Services (AWS) ประกาศปีที่แล้วว่าจะใช้ไทยเป็นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ หรือคลาวด์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ ลงทุนประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เบื้องต้นเริ่มลงทุนไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ผู้นำทั่วโลกมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลง

“ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงประมาณ 10 ปีผ่านมา ตั้งแต่เราเริ่มทำ Paris Agreement ยังไม่เกิดความก้าวหน้ามากนัก อุณหภูมิของโลกไม่ได้ลดลงตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกยังถูกปล่อยในปริมาณมาก แต่ผู้นำทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลง

“โดยแต่ละประเทศมีการบ้านช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงลดการปล่อยก๊าซลง ในส่วนของไทยพยายามทำหลายเรื่อง มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลด้านนี้โดยตรง รวมถึงพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์”

ในส่วนของภาคการเงิน คงเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ Thailand taxonomy ออกมา และขณะนี้ภาคธนาคารอยู่ระหว่างการปรับพอร์ตโฟลิโอให้ลูกค้าในช่วงทรานสิชั่น สามารถที่จะมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ รวมถึงเรื่องกรีนไฟแนนซ์ และกรีนโลนต่าง ๆ

ชู Biodiversity Credit ขับเคลื่อน

“วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์” ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวช่วงเสวนา “Carbon Credit : Mechanism for Green Economy” ว่า เกมของโลกเปลี่ยน ทำให้การทำธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการ และตอนนี้ทั่วโลกต้องมุ่งเน้นเรื่องของ Green มากขึ้น
ทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาเรื่องของคาร์บอน

ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มวัดเรื่องของคาร์บอน ธุรกิจต่าง ๆ ต้องหันมาตรวจสอบ และวัดว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน ปล่อยจากอะไร ซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่าง ๆ

“ผมมองว่านี่คือความท้าทาย พอเกมโลกเปลี่ยนทุกประเทศต้องปรับตัวตาม สมมุติว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการวัดคาร์บอน ต่อไปผลิตภัณฑ์ที่ออกมา ถ้าไม่มีการระบุว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ก็อาจจะเอาไปขายในตลาดไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มวัดตั้งแต่ตอนนี้จะเป็นประโยชน์ หรือบริษัทใหญ่ ๆ ถ้าไม่มีรายงานด้านคาร์บอน กลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่อาจจะลงทุนไม่ได้”

ส่วนสเต็ปต่อไปอาจเป็นเรื่อง Biodiversity Credit หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ตอนนี้เราอาจพูดถึงคาร์บอนเครดิต เราลดคาร์บอนอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าความหลากหลายทางชีวภาพจะดีขึ้นไปด้วย ตอนนี้ในเวทีต่าง ๆ มีการพูดคุยกันว่า ต่อไปอาจจะมี Biodiversity Credit ขึ้นมา

ลดปล่อยคาร์บอนลง

“ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้เราแก้ปัญหาด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต แต่สิ่งสำคัญเราต้องลดคาร์บอนอิมมิชชั่นลงให้ได้

แต่จะลดได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้เลยว่าเราปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ ตลท.เองก็มีแพลตฟอร์มสำหรับช่วยทุกคนทำเรื่องนี้ เพราะต่อไปอาจจะมีการวัดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ

“ดังนั้น ในฐานะหน่วยงานกลางของบริษัทในตลาดทุน พยายามยกระดับทั้งอีโคซิสเต็ม และความยั่งยืนให้พัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านถ้าพูดถึงความยั่งยืน ธุรกิจต่างมองว่าเป็นเรื่องของต้นทุน เพราะไม่เกี่ยวกับธุรกิจ”

แต่วันนี้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญ กฎเกณฑ์ หรือกติกาของโลก การค้าขาย การลงทุนเริ่มให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ ผู้บริโภค หรือพนักงาน ก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับบริษัทที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคม

ประเทศไทยไร้หมอกควัน

“ปองทิพย์ เที่ยงบูรณธรรม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทางคาร์บอน (ที่ปรึกษา) ธนาคารโลก หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซฟรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม หรืออะไรก็ตาม ไม่สามารถทำได้แค่โซลูชั่นเดียว ฉะนั้น เฮซฟรี จึงเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อย เราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมไร้ควัน เริ่มต้นจากงานวิจัยในโครงการวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน”

“ซึ่งในโครงการวิจัยมีการขับเคลื่อนให้เกษตรกรตระหนักถึงการลดการเผาที่ก่อให้เกิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไป”

เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดการเผา ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากการลดการเผาแล้วนั้น เกษตรกรในพื้นที่โครงการยังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีหันมาทำเกษตรกรรมที่ปลอดสารเคมีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และฟื้นฟูพื้นที่การทำเกษตรกรรมของตนเองให้มีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพของสินค้าเกษตรของตนเอง

“ดังนั้น เมื่อเกษตรกรมีผลผลิต จะมีการสร้างแผนธุรกิจเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากสินค้าอย่างยั่งยืน เราทำในส่วนที่เราทำได้ และเห็นว่าสำคัญไม่แพ้ไปกว่าปัญหาอื่น ๆ เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาจะไม่บุกรุกพื้นที่เพิ่ม และเกษตรกรมีอาหารที่ยั่งยืน เราอยากจะปรับให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นด้วย มากกว่าการลดพื้นที่การเผา การผลิตอาหาร แต่สร้างความยั่งยืนอาหาร และชุมชนด้วย”

ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างมาตรฐานจะทำให้เกษตรกรเครือข่ายเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของเขา เพื่อให้คนรุ่นใหม่มองว่าอาชีพเกษตรกรนั้นไม่ใช่อาชีพที่เป็นกระดูกสันหลัง แต่เป็นอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง