ผ่ากลยุทธ์เอชอาร์ “ปตท.” ปั้นทีมเฉพาะกิจหา New S-curve

ปรีชา โภคะธนวัฒน์

เมื่อตั้งหลักองค์กรจากผลกระทบของ Disruption ได้แล้ว “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)” ภายใต้การบริหารของ “นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) คนล่าสุด ได้กำหนดทิศทางการลงทุน รวมถึงยุทธศาสตร์ด้าน “คน” ภายใต้ธีม “organize transformation” ซึ่งถือว่าเป็นธีมที่ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเป็น “กองหนุน” ให้กับธุรกิจของ ปตท.

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ปรีชา โภคะธนวัฒน์” รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กรและความยั่งยืน ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการหาคนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหาธุรกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า new S-curve ของ ปตท.

“ปรีชา” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า นโยบายของนายชาญศิลป์ ซีอีโอ ปตท.คนล่าสุดนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับการลงทุนและคนแล้ว ในทุกโปรเจ็กต์ต่อจากนี้ต้องมีเรื่องความ “ยั่งยืน” กำหนดเอาไว้ด้วย โดยได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารคนเป็น organize transformation ประกอบด้วย 3 ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญ ได้แก่ กระบวนการ (process) ที่ต้องสอดคล้องกับการทำธุรกิจ คน (people) ต้องสร้างคนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และระบบ (system) ที่จะทำให้ส่วนอื่น ๆ เชื่อมโยงและเดินหน้าไปพร้อมกันทั้งองค์กรแบบมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ซึ่ง ปตท.ในยุคนี้ให้ความสำคัญกับงานกองหนุนอย่างมาก จากเดิมที่ต้องเดินตาม เปลี่ยนเป็นการ “เดินคู่กัน” ไปพร้อมกับธุรกิจ เพราะไม่รู้อนาคตข้างหน้าของธุรกิจพลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

“ยกตัวอย่าง วันนี้เราบอกว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กร แต่ท่ามกลางราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ก็ยังมีผู้บริโภคเลือกใช้ ในแง่ของความมั่นคงทางพลังงาน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า พลังงานฟอสซิลจะหมดไปหรือไม่ สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะเปลี่ยนไปมากหรือน้อยก็ตาม”

“ปรีชา” ได้ขยายความถึงขั้นตอนการลงทุนในแต่ละโปรเจ็กต์ของ ปตท.ว่าเมื่อฝ่ายบริหารมีความชัดเจนในการเดินหน้าลงทุนแล้ว จะใช้เวลาเตรียมอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี และ 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร เริ่มที่ “แนวคิด” หรือmind set ของพนักงานที่ถือว่ามีความสำคัญมาก ตามมาด้วย integrationหรือร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจแบบบูรณาการ เพราะในปัจจุบันการทำธุรกิจมีหลายอย่างที่เชื่อมโยงเพื่อไสู่เป้าหมายและสุดท้ายหากจะเดินหน้าธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้วต้องเพิ่ม

สิ่งที่เรียกว่า trust หรือความเชื่อถือซึ่งกันและกันความเชื่อถือในกันและกันถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของกลุ่ม ปตท.ที่ต้องฝังไว้ใน DNA ของพนักงานทุกคน และในประเด็นความน่าเชื่อถือนั้นถือว่ามีหลากหลายองค์ประกอบ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลา องค์กรให้น้ำหนักไปที่เรื่องใด เช่น innovation responsibility หรือ responsibility for society แต่ที่ต้องตระหนักเสมอคือ คนในองค์กรต้องเชื่อใจกัน ถ้าไม่เชื่อถือกัน สังคมก็คงไม่เชื่อถือ ปตท.เช่นกัน

Advertisment

“เมื่อถามว่า mind set ของคนในแบบ ปตท.ต้องเป็นอย่างไรนั้น บอกได้เลยว่า ต้องเป็นคนที่พร้อมที่จะเปลี่ยนจากสิ่งที่เรามี โดย academy ต้องใส่เนื้อหาที่คนใน ปตท.ทั้งหมดจะต้องเจอ ต้องมีหลักสูตรกลางที่ฝ่ายเอชอาร์สามารถฝังเนื้อหาในเรื่องของ changeตามมาด้วยเรื่อง intigration ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยากกว่า mind Set ปัญหาคือถ้าจะต้องลงมาถึงระดับล่างจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ทุกอย่างลิงก์กันทั้งหมด จึงได้ใช้ระบบ system ไม่ว่าใครจะหาข้อมูลอะไรก็หาได้จากแหล่งเดียวกันทีเดียว มีกองกลางแล้วก็นำไปใช้”

“ปรีชา” ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการนำระบบและดิจิทัลเข้ามาใช้คือ ได้เปลี่ยน mind set และลดขั้นตอนในการทำงานลง พร้อมทั้งยังพาไปหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง mind set ที่ฝ่ายบริหารกำหนดไว้ จะต้องส่งถึงกันทั่วทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับใดก็ตาม เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคน “ต้องรู้” เช่น ถ้าจะลงทุนก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผลตอบแทนการลงทุนจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามการปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งที่ควรทำคือการสื่อสารกับพนักงานให้เห็นว่าปัญหาอาจจะเป็น “โอกาส” ก็ได้ และถือเป็นคีย์เมสเซจที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นพัฒนาการตลอด 40 ปีของ ปตท.ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

Advertisment

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นภาพของหลายองค์กรที่ได้รับผลกระทบจาก disruption จนต้องลดขนาดองค์กรด้วยการเชิญคนออก แต่สำหรับ ปตท. “ปรีชา” ระบุว่า ปตท.ไม่มีนโยบายเชิญคนออกแน่นอน แต่ใช้วิธีเปลี่ยนแนวคิด mind set ต่อสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกไม่ถึง 2% ซึ่งส่วนนี้ได้รวมผู้ที่เกษียณอายุด้วย เท่ากับว่าตัวเลขดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติในฐานะองค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท.

“ส่วนการพัฒนาคนในองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ปตท.ให้ความสำคัญอย่างมาก ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้สร้างทีม “YP 2 G” (Young People To Global) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “Young People” ส่งเข้าไปเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง และในองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อเรียนรู้รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ของโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่ ปตท.ต้องการเข้าไปทำธุรกิจ การได้มาของทีมYP 2 G นั้น เริ่มจากการให้ทุนเรียนต่อด้าน MBA กับพนักงานที่มีศักยภาพ จนถึงวันนี้ YP 2 G ได้ผลิตคนทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลกแล้วกว่า 70 คน และอีกร่วม 10 คนที่ยังอยู่ในระหว่างศึกษา”

และในเร็ว ๆ นี้จะส่งพนักงานไปเรียนเพิ่มเติมอีก โดย “ปรีชา” ขยายภาพที่มาของ YP 2 G ว่า คัดกรองคนที่มีคุณสมบัติก่อนโดยทีมคณะกรรมการที่ส่งมาจากบริษัทในเครือ ปตท. จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก หลังจากนั้นผู้ได้รับคัดเลือกจะถูกเทรนจากรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์ตรงมาแล้วด้วย โดยภารกิจสำคัญของพนักงานที่เป็นผลผลิตจากโปรแกรมนี้คือ ออกไปค้นหาโอกาสทางธุรกิจ หรือ new S-curve ใหม่ให้กับ ปตท.

“ในอีก 2 ปีข้างหน้าอาจทำให้ ปตท.ได้ค้นพบ “new S-curve” จากทีม YP 2 G เพราะพวกเขาได้เห็นอีกหน้าหนึ่งของโลก ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การจับมือกับองค์การเภสัชกรรมในการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งธุรกิจนี้มาจากการควานหาโอกาสจากทีมเอสเพรสโซ่

นอกจากนี้เราได้เริ่มฝังคนจาก YP 2 G เข้าไปในกองทุนต่าง ๆ เพื่อเข้าไปเรียนรู้ รวมถึงหาคำตอบให้ได้ว่า หากสนใจจะเข้าไปลงทุนจะต้องทำอย่างไรบ้าง”

“แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ หรือถูก disrupt มากกว่านี้ เราเชื่อว่าเรามีคนพร้อมที่ก้าวต่อไปกับเรา อันนี้เป็นแนวคิดที่ ปตท.เตรียมการไว้ และเป็นเรื่องที่องค์กรนี้ไม่เคยที่จะหยุดนิ่ง แต่เราอาจจะไม่ได้บอกให้คนรู้ เพราะเราถูกสอนมาให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และเรามองว่าเพราะปัญหานี้มันเกิด จึงเป็นโอกาสที่เราต้องคิดเพื่อแก้ไขสิ่งที่จะตามมาไว้ก่อน ซึ่งทุกอย่างคือการจินตนาการ เพราะทุกอย่างยังไม่เกิดขึ้น แต่เราพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไขตามสถานการณ์”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!