คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป
เมื่อวันก่อนผมมีโอกาสคุยกับน้องคนหนึ่ง เธอทำธุรกิจเครื่องสำอางเล็ก ๆ ขายออนไลน์ หาเงินเลี้ยงแม่และน้อง ทำไปได้สักระยะก็ไม่ไหว มีเหตุให้ต้องเลิกราไป ตอนนี้กำลังหางานประจำทำอยู่
คุยไปคุยมาพบว่าจริง ๆ แล้วเธอเป็นคนมีความสามารถและมีความตั้งใจดีมาก แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความเชื่อว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่รู้เรื่องการตลาด คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น ทำธุรกิจไม่ได้ ฯลฯ เลยทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ
คนที่เป็นแบบนี้มีเยอะครับ ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า เป็นพวก “มีความเชื่อที่จำกัดความสามารถของตัวเอง” (limiting belief)
เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ไหมครับ ฟังดูเหมือนภาษาพระ บางคนอาจคิดว่าผมกำลังจะพูดเรื่องธรรมะ แต่อันที่จริงทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ในปี 1968 คุณครูคนหนึ่งชื่อว่า เจน อีลอตท์ (Jane Elliott) ได้ทำการทดลองด้วยการแบ่งนักเรียนในชั้นของเธอออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีนัยน์ตาสีฟ้า กับอีกกลุ่มที่มีนัยน์ตาสีน้ำตาล
จากนั้นเธอจัดให้เด็กตาสีฟ้านั่งข้างหน้า และทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้นเชื่อว่าพวกเขาฉลาดและมีสติปัญญามากกว่าด้วยการพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ทุกวัน ในขณะเดียวกันก็จัดให้เด็กตาสีน้ำตาลนั่งข้างหลังและบอกทุกวันจนเด็กเชื่อเช่นกันว่า พวกเขามีสติปัญญาที่อ่อนด้อยกว่า
เมื่อผลสอบออกมาคงไม่ต้องเดา เด็กตาสีฟ้าทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กตาสีน้ำตาลทุกคน !
อีกการทดลองหนึ่ง นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยไอโอวา ที่สหรัฐอเมริกา ชื่อ เวนเดลล์ จอห์นสัน (Wendell Johnson) ได้รวบรวมเด็กกำพร้าจำนวน 22 คนมาใช้ในการทดลองของเขา โดยเด็ก 11 คนแรกได้รับการชมเชยเสมอว่าพวกเขาเป็นคนพูดเก่ง สื่อสารได้ดี มีทักษะในการนำเสนอ
ขณะที่เด็กอีก 11 คนที่เหลือ ถูกตำหนิและตอกย้ำทุก ๆ วันว่าเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง นำเสนอไม่เป็น สื่อสารไม่เข้าท่า จนเด็ก ๆ เชื่อโดยสนิทใจว่าพวกเขาเป็นเช่นนั้น
เมื่อเวลาผ่านไป เด็กกลุ่มที่ 2 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการสื่อสาร บางคนกลายเป็นคนพูดติดอ่างไปตลอดชีวิต ช่างเป็นการทดลองที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และน่าประณามที่สุด การทดลองนี้ถูกขนานนามว่า The monster study (การวิจัยปีศาจ) และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม จนกระทั่งในปี 2011 มหา’ลัยไอโอวาต้องทำจดหมายออกมาเพื่อขอโทษสาธารณชนที่ปล่อยให้การทดลองแบบนี้เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย
นี่คือตัวอย่างของอิทธิพลในการได้รับการตอกย้ำความเชื่อเชิงลบ จนความเชื่อนั้นกลายเป็นความจริง
ลองคิดดูว่าในการทดลองเด็ก ๆ พวกนั้นถูกตอกย้ำโดยคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักวิจัยเป็นประจำสม่ำเสมอ จนเชื่อว่าตนเองเป็นอย่างนั้น แต่หากเปลี่ยนจากคนอื่นเป็นตัวเราเองที่คอยตอกย้ำตนเองตลอดเวลาทุกเมื่อเชื่อวันด้วยความคิดลบ ๆ ที่ปรามาสและดูถูกตัวเอง ผลจะเป็นเช่นไร ?
ในทางกลับกัน ผู้ที่ประสบความสำเร็จ มีความเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าพวกเขาจะสำเร็จ สมองจึงคิดหาหนทางไปให้ถึงความสำเร็จนั้น
ถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ เสาร์-อาทิตย์นี้ขับรถไปที่ห้างสรรพสินค้าที่มีคนแน่น ๆ ที่จอดรถหายากมาก ๆ แล้วลองคิดและเชื่อว่า “เราจะได้ที่จอดรถดี ๆ แบบใกล้ ๆ ประตู” …เชื่อไหมว่าจะสำเร็จ !
เพราะอะไร ?
อันที่จริงไม่ใช่เพราะความเชื่อ แต่เป็นเพราะเมื่อเราเชื่อ สมองก็สั่งสายตาให้สอดส่องดูว่ามีใครกำลังเดินกลับมาขึ้นรถบ้างไหม ในขณะที่เท้าก็คอยแตะเบรกอยู่ตลอดเวลา แบบชนิดว่าค่อย ๆ คลานไป อีกแป๊บเดียวก็ได้ที่จอด !
ผมลองแล้วสำเร็จมากกว่า 90% ถ้าไม่เชื่ออาทิตย์นี้ไปลองดูเลยครับ
เพราะฉะนั้น หากอยากประสบความสำเร็จให้มากและเร็วขึ้น ต้องเรียนรู้ที่จะกำจัด limiting belief นี้ออกไปจากจิตใจให้ได้ ด้วยวิธี
1.ฝึกฝนเป็นคนคิดบวก-คุณบอย (วิสูตร แสงอรุณเลิศ) นักเขียนชื่อดังเคยแนะนำไว้ว่า ให้หายางหนังสติ๊กมาใส่ข้อมือไว้ ทุกครั้งที่คิดลบ ให้ดึงหนังยางดีดตัวเองแรง ๆ ช่วงแรก ๆ คงโดนไปวันละหลาย ๆ ที แต่ถ้าไม่ย่อท้อเสียก่อนวันหลัง ๆ จะดีขึ้นเพราะสมองเริ่มสั่งการใหม่แล้วว่า “คิดลบเท่ากับเจ็บตัว”
2.หาหลักฐานมาคัดค้านความคิดแง่ลบของตนเอง เช่น เชื่อว่าฉันทำอะไรก็ไม่เคยสำเร็จ ลองคิดทบทวนดูซิว่าจริงหรือไม่ที่ตั้งแต่เกิดมาทำอะไรไม่สำเร็จเลย…คงมีบ้างละน่าที่ทำสำเร็จ ! สมองจะได้ไม่คิดแบบเหมารวม
3.เอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนคิดบวก-ความคิดและความเชื่อเป็นโรคติดต่อ อยู่ใกล้ใครก็มีแนวโน้มคิดอย่างนั้น โบราณถึงบอกว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”
4.เพิ่มคำว่า “ยัง” เข้าไปในทุก ๆ ความเชื่อว่าที่มีคำว่า “ไม่” เช่น ฉันไม่เก่ง เป็น ฉันยังไม่เก่ง ฉันคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น เป็น ฉันยังคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น เพราะคำว่า “ยัง” เป็นการเปิดโอกาสให้ตนเองได้ฝึกฝนและพยายามมากขึ้น
ความสำเร็จไม่ได้เกิดความรู้หรือทักษะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดด้วย เพราะฉะนั้น เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน !