คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา สลิงชอท กรุ๊ป
มหาวิทยาลัย MIT เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งมีสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่โด่งดังไม่แพ้กัน ชื่อ Media Lab
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวคราวอื้อฉาวกรณีสถาบันไปรับเงินบริจาคจากกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จนเป็นเหตุให้ผู้อำนวยการชื่อดัง นาม “โจอี้ อีโตะ” (Joi Ito) ต้องลาออกจากตำแหน่งไปอย่างน่าเสียดาย
“โจอี้ อีโตะ” เป็นบุคคลที่น่าสนใจมาก เขาเกิดที่ญี่ปุ่น แต่พ่อแม่อพยพมาอยู่แคนาดาตอนอายุได้ 3 ขวบ หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา “โจอี้ อีโตะ” เคยเรียนด้านคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ (Tuff) แต่เรียนไม่จบ เพราะคิดว่าการเรียนคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนเป็นความคิดที่โง่เขลา เขาออกมาทำงานได้สักพัก ผู้ใหญ่ก็ชักชวนให้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง คราวนี้เขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ทางด้านฟิสิกส์ แต่ก็เรียนไม่จบอีก เพราะไม่ชอบวิธีการสอนของอาจารย์ สุดท้ายได้ปริญญาตรีผ่านการเรียนแบบออนไลน์ และไปจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น
ชีวิตการทำงานของเขาเริ่มต้นจากการเป็น ดีเจ.ในไนต์คลับ ก่อนที่จะมาทำธุรกิจสำหรับคนกลางคืนอยู่หลายปี “โจอี้ อีโตะ” ได้รับการว่าจ้างให้มาเป็น ผู้อำนวยการ Media Lab ของ MIT ในเดือนกันยายน 2011 ท่ามกลางความมึนงงและเสียงบ่นด่าของคนทั่วไป เพราะถ้าดูพื้นเพทางด้านการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานแล้ว เขาไม่มีอะไรคู่ควรกับ MIT เลยแม้แต่น้อย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป “โจอี้ อีโตะ” กลับสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายให้กับสถาบันแห่งนี้ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างชนิดผิดหูผิดตา ผู้คนที่เคยปรามาสและก่นด่า ต่างหันมายกย่องการตัดสินใจว่าจ้าง “โจอี้ อีโตะ” เข้ามาทำงานในครั้งนี้ว่าเป็นความคิดที่ชาญฉลาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา
“โจอี้ อีโตะ” เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “Whiplash-How to survive our faster future” อธิบายถึงแนวทางในการบริหารจัดการองค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งระดับเทพ ให้ทำงานเป็นทีมและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่สังคมโลก
นี่คือ 10 แนวทางในการบริหารงาน ที่เราทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
Emergence over Authority : เน้นการมีส่วนร่วมจากล่างขึ้นบน มากกว่าการสั่งการจากบนลงล่าง เพราะคนทำงานรู้ดีกว่าผู้บริหาร ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต้องมาจากคนข้างล่าง ไม่ใช่ข้างบนประทานให้
Pull over Push : ให้ความสำคัญและให้โอกาสกับคนที่อยากทำก่อน ต้องเชื่อว่า want (ความอยากทำ) สำคัญกว่าcan (ความสามารถ) เพราะถ้าอยากทำแล้ว การขวนขวายเรียนรู้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าไม่อยากเสียอย่าง บังคับให้ทำ ก็ไม่เต็มที่
Compasses over Maps : ให้เข็มทิศ ไม่ใช่ให้แผนที่ หมายความว่า กำหนดเป้าหมาย แล้วให้อิสระกับคนทำงานในการหาหนทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ไม่ใช่กำหนดวิธีการทำงานทุกขั้นตอน จนไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเลย
Risk over Safety : ต้องกล้าเสี่ยงและยอมผิดพลาดบ้าง ไม่ใช่เน้นแต่จะปลอดภัยเพียงอย่างเดียว เพราะการไม่เสี่ยงถือเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุด การทำอะไรใหม่ ๆ อาจพลาดไปบ้าง ทำ 10 สำเร็จ 1 ถือว่าสุดยอดแล้ว
Disobedience over Compliance : กล้าที่จะแหกกฎ ไม่ใช่ทำตามข้อกำหนดและกติกาเท่านั้น เพราะความคิดสร้างสรรค์มักมาจากความคิดแปลก ๆ ที่แหวกแนวไปจากความเชื่อเดิม นวัตกรรมและการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ บนโลกนี้ ล้วนเกิดมาจากการไม่ยอมรับความเชื่อเดิม ๆทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น การค้นพบว่าโลกกลม ก็เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อ และไม่ยอมรับว่าโลกแบน จึงตัดสินใจออกเดินเรือเพื่อไปให้สุดขอบโลก จนไปพบทวีปอเมริกา เป็นต้น
Practice over Theory : ให้ความสำคัญกับการนำไปใช้ได้จริง มากกว่าเน้นการทำให้ถูกต้องตามทฤษฎี เพราะในโลกนี้มีความคิดดี ๆ ที่นำไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ มากพอแล้ว
Diversity over Ability : เน้นความหลากหลาย ไม่ใช่ความเก่ง เพราะความหลากหลายจะทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง การผสมผสานความเก่งจากหลาย ๆ คน จะช่วยสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนได้
Resilience over Strength : ความสามารถในการล้มแล้วลุกได้เร็ว สำคัญกว่าความแข็งแกร่ง เพราะแข็งมากมักหัก แต่ล้มแล้วลุกได้ อยู่ได้นานกว่า ดูต้นไม้ใหญ่กับต้นหญ้าเป็นตัวอย่าง ยามพายุมาต้นหญ้าไม่เคยเสียหาย เพราะล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่ ซึ่งต่างจากต้นไม้ใหญ่ที่ไม่สามารถต้านทานแรงลมได้
Systems over Objects : ทุกคนร่วมกันทำงานเป็นทีม มีระบบการทำงานที่ดี ไม่ใช่ข้าเก่งคนเดียว ความสำเร็จไม่ควรขึ้นอยู่กับความสามารถของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ความสำเร็จที่ยั่งยืน ต้องใช้ระบบเป็นตัวนำ ไม่ใช่ใช้คนนำ เพราะคนมีวันจากไป
Learning over Education : เน้นการเรียนรู้ ไม่ใช่การอบรมหรือเรียนหนังสือ เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย การศึกษาและการอบรม เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางที่ “โจอี้ อีโตะ” ใช้ในการบริหารทีมงานที่ Media Lab ของ MIT ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายที่วันนี้เขาไม่อยู่แล้ว แต่อย่างว่า ความสำเร็จที่ยั่งยืน ต้องไม่ยึดติดที่ตัวบุคคล เขาได้สร้างระบบที่ดีพร้อม ไว้ให้กับองค์กรเรียบร้อยแล้ว