“โควิด” กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk

สถานการณ์โควิดได้สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการพัฒนา และควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งทางตรงด้านสาธารณสุขความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่(pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

ในหลายประเทศมีขีดจำกัดในการรับมือกับสถานการณ์ และมีความเชื่อว่าการพัฒนาตามแผนถูกทำให้หยุดชะงักเพียงช่วงเกิดสถานการณ์ และจะกลับมาดำเนินได้ใหม่ภายใต้ภาวะปกติแบบเดิม แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องมีการประเมินแบบแผนการพัฒนาใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุดเนื่องจากรูปแบบหรือพฤติกรรมของผู้คน อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม จะส่งผลต่อแผนการพัฒนาที่ถูกผลักดันให้รองรับการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (new normal)

การผนวกหรือทำให้การจัดการความเสี่ยงจากสถานการณ์เป็นเรื่องหลักในนโยบายการพัฒนา การวางแผน และการนำไปปฏิบัติ จะต้องอาศัยการแยกแยะบทบาทที่ชัดเจน มีการกำหนดความรับผิดชอบในการจัดการและการลดความเสี่ยง มิใช่กับเพียงผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้นำเฉพาะในภาครัฐ แต่ยังรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม และชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างโควิดกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย โควิดจำกัดการพัฒนา, การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และการพัฒนาที่ลดความเสี่ยง ทั้งนั้น

ในแต่ละด้านยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ, การพัฒนาทางสังคม และการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม ตามหัวข้อดังนี้

1.โควิดจำกัดการพัฒนา

(การพัฒนาทางเศรษฐกิจ)

1.1 การทำลายทุนทางเศรษฐกิจ

1.2 การสูญเสียความสามารถในการผลิต การเข้าถึงตลาด หรือปัจจัยวัตถุดิบ

1.3 ความเสียหายทางการคมนาคม โลจิสติกส์ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง

1.4 การดำรงชีพ เงินออม และทุนทางกายภาพถูกกัดกร่อน

(การพัฒนาทางสังคม)

1.1 การทำลายสุขภาพ สมรรถนะของบุคลากร และความมั่นคงในตำแหน่งงาน

1.2 การเสียชีวิต หรือการย้ายถิ่นฐานที่นำไปสู่การกร่อนของทุนทางสังคม

(การพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม)

1.1 การชะลอการพัฒนาที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ(climate emergency) เพื่อนำทรัพยากรมาใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด

2.การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง

(การพัฒนาทางเศรษฐกิจ)

2.1 การดำเนินวิถีการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืน สร้างให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม บนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่

(การพัฒนาทางสังคม)

2.1 เส้นทางการพัฒนาบ่มเพาะบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแยกตัวจากสังคม หรือการกีดกันทางสังคม

2.2 สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อาทิ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ส่งถึงบ้าน (กับประเด็นข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิด) ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้การทำงานในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการส่งพัสดุ มีสภาพเลวร้ายลงกว่าเดิม

(การพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม)

2.1 การพัฒนาที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม อาทิ ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการทำลายป่าที่เกี่ยวโยงกับสายอุปทานถั่วเหลือง ปศุสัตว์ และน้ำมันปาล์ม

3.การพัฒนาที่ลดความเสี่ยง

(การพัฒนาทางเศรษฐกิจ)

3.1 การเข้าถึงที่เพียงพอในเรื่องเวชภัณฑ์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มขึ้น

3.2 การค้าและเทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ สามารถลดความยากไร้ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงตลาด

3.3 การลงทุนในกลไกด้านการเงินและการประกันสังคม สามารถใช้เป็นเครื่องมือลดความเปราะบาง

(การพัฒนาทางสังคม)

3.1 การสร้างความปรองดองในชุมชน ด้วยการให้ความสำคัญกับปัจเจกหรือกลุ่มสังคม (เช่น สตรี) ที่ถูกกีดกัน เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาและอนามัย จะช่วยให้มีความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้น

(การพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม)

3.1 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง จากภาวะปกติใหม่

3.2 การออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาคาร และที่พักอาศัย ที่ป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

3.3 การจัดการน้ำทิ้งและของเสียที่มีการควบคุม เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโควิด

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการผนวก หรือทำให้ข้อปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงกลายเป็นเรื่องหลักในแผนการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผลสำเร็จของการพัฒนาสามารถดำเนินต่อไปในมุมที่จะขยายวงของการพัฒนา มากกว่าในมุมที่จะไปลดทอนการพัฒนาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น