‘เทคคอมพานี’ ระดับโลก ทยอยย้ายออกจาก ‘ซิลิคอน วัลเลย์’

ที่มาภาพ: REUTERS/Noah Berger

Facebook, Twitter, Dropbox และเทคคอมพานีอีกมาก คิดย้ายออกจากซิลิคอน วัลเลย์ หันมาสร้างฮับเล็ก ๆ กระจายทั่วประเทศเพื่อการพบปะของพนักงาน

สิ่งหนึ่งที่โลกธุรกิจได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) คือ พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากนอกสำนักงาน (remote work) และจากที่องค์กรเคยเน้นการจ้างคนในพื้นที่ใกล้ ๆ ทำให้แหล่งคนเก่ง (talent pool) กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่ตอนนี้ภาคธุรกิจกล้าที่จะจ้างคนในพื้นที่ห่างไกล และทำงานแบบไม่ต้องเข้าสำนักงาน ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของคนเก่ง ซึ่งการดิสรับที่เกิดนี้ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปจากแบบดั้งเดิม

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การดิสรับของสถานที่ทำงานที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ ในเมืองซิลิคอน วัลเลย์ ที่อ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพราะที่แห่งนี้เคยเป็นที่ทำงานของพนักงานเทคคอมพานีจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลต่อความต้องการเช่าอพาร์ทเม้นท์ในอ่าวซานฟรานซิสโกน้อยลงไปประมาณ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

ประเพณีการรวมตัวอยู่ใกล้กันของบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการหมุนเวียนกลุ่มคนเก่งในซิลิคอน วัลเลย์มีมายาวนานถึง 70 ปี ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 70 ปีที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นที่อยู่ขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง Apple Inc., Facebook, Alphabet, Twitter, Oracle, Hewlett-Packard และ Intel เป็นต้น ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีบนแผนที่โลก ทั้งยังส่งผลให้เขตมณฑลซานตาคลาร่าแวลลีย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของซิลิคอน วัลเลย์ เติบโตเป็นศูนย์กลางความมั่งคั่ง สร้างรายได้กว่า 316 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน GDP ปี 2018 และเป็นแหล่งงานกว่า 1.7 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน

แต่ปัจจุบัน องค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกในซิลิคอน วัลเลย์ไม่ต้องการแคมปัสใหญ่ ๆ อีกต่อไป และกำลังพิจารณาทางเลือกที่ทำงานอื่น ๆ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “แจ็ค ดอร์ซีย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Twitter และ Square ได้ประกาศให้พนักงานเกือบ 9,000 คน สามารถทำงานได้จากทุกที่เป็นการถาวร

ส่วนออฟฟิศของ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Facebook ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีพนักงานกว่า 95% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 45,000 คน ทำงานแบบ remote work ซึ่งเป็นผลจากการที่เขาได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ว่า พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ถาวร ทั้งนี้ เงินเดือนของพนักงานจะปรับตามค่าครองชีพที่ลดลง

ตัวแทนของเฟสบุ๊คบอกว่า “ได้พิจารณาทางเลือกในการทำงานแบบ remote work มานานแล้ว แต่โควิด-19 ทำให้เรื่องนี้เกิดเร็วขึ้น และตอนนี้บริษัทกำลังตั้งเป้าว่า 10 ปีจากนี้ไปจะมีพนักงานของเฟสบุ๊คทำงานแบบ remote work ไม่ต่ำกว่า 50%”

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บริษัท Alphabet บริษัทแม่ของ Google ได้ประกาศให้พนักงานแบบสัญญาว่าจ้างและพนักงานประจำทั้งหมดกว่า 200,000 คนทั่วโลก ทำงานนอกสำนักงานไปจนถึงเดือนมิถุนายนปี 2564

การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดขึ้นกับทุกองค์กร แม้แต่ Venture Capital (VC) หรือกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน ที่ถือเป็นแหล่งเงินทุนของบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน วัลเลย์ ก็เปลี่ยนวิธีการทำงาน จากที่เคยคุยเรื่องข้อตกลงกันตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ในซิลิคอน วัลเลย์ เป็นคุยกันออนไลน์ผ่าน Skypes และ Zooms

ทั้งนี้ การกระจายแหล่งทักษะขององค์กรก็เป็นส่วนหนึ่งของดิสรับชั่นที่เกิดขึ้นด้วย “เจนนิเฟอร์ คริสตี้” หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Twitter กล่าวว่า โครงการ Flexible Work ที่ให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้เป็นวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก่อนหน้านี้มีเพียงพนักงานบางคนเท่านั้นที่ร่วมโครงการ ซึ่งตอนนี้พนักงานจำนวนมากได้ขอทำงานจากที่บ้านอย่างถาวร

“การสร้างทีมงานและให้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นการสนับสนุนการความสามารถระดับโลก”

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา Facebook ประกาศแผนเร่งจ้างคนด้านวิศวกรรมและผลิตภัณฑ์ทั่วโลก 10,000 ตำแหน่งภายในปีนี้ โดยการทำงานของคนกลุ่มนี้จะเป็นแบบ remote work แบบถาวรเท่านั้น ซึ่งบริษัทต้องการจ้างคนจากหลากหลายพื้นที่ และจากนั้นจะสร้างฮับกระจายอยู่ทั่วอเมริกาเหนือ

“ฮับเหล่านี้จะไม่ใช่สำนักงาน แต่เป็นพื้นที่ที่ให้พนักงานในบริเวณนั้นมารวมตัวกัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ หรือการฝึกอบรมเท่านั้น และเราหวังว่า การมีฮับกระจายไปแบบนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้มีความสามารถที่อาศัยอยู่ทั่วทุกพื้นที่ และช่วยดึงดูดพวกเขาให้มามีบทบาทกับบริษัทของเรามากขึ้น”

ในขณะที่บริษัท Dropbox กำลังทิ้งสำนักงานของตัวเอง ไปเช่าห้องแบบสตูดิโอ ในกรณีที่พนักงานต้องการพื้นที่ทำงานร่วมกัน

“โรเบิร์ต แซมมอนส์” ผู้อำนวยการอาวุโส Bay Area Research ของ Cushman & Wakefield กล่าวว่า การกระจายฮับเพื่อพบปะกันของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะเติบโตขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตามซิลิคอน วัลเลย์จะยังคงมีความสำคัญ

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายออกจากซิลิคอน วัลเลย์ของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เพราะซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง มีค่าเช่าสำนักงานที่แพง และเริ่มเป็นตลาดแรงงานที่หนาแน่นมากเกินไป

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเหล่านี้คิดออกจากซิลิคอน วัลเลย์ แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับการมองหาคนเก่งและทักษะนอกซิลิคอน วัลเลย์มากกว่า