บริบท CE “โคเวสโตร” ความท้าทายเพื่อสร้างโลกที่สดใส

การจะเอาชนะความท้าทายระดับโลกที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเติบโตของจำนวนประชากร และวิถีชีวิตที่ไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้แนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy-CE) เข้ามาช่วยจัดการ

จึงทำให้ “โคเวสโตร” ตั้งเป้าประยุกต์ด้วยการนำหลักการเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเข้ามาในโครงสร้างการดำเนินกิจการ ในฐานะผู้บุกเบิกการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยความตั้งใจดังกล่าวยังเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์บริษัทที่ว่า “สร้างสรรค์เพื่อโลกที่สดใส”

ยุทธศาสตร์ CE

“เอด้า หัว” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเพื่อเกื้อกูลสังคมประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โคเวสโตรในประเทศไทย ประกอบด้วย 3 หน่วยธุรกิจ คือ สีเคลือบ, กาว และผลิตภัณฑ์ประเภทจำเพาะ เช่น โพลิคาร์บอเนต และโพลิยูรีเทน โดยมีโรงงานผลิตโพลิคาร์บอเนตที่ทันสมัยระดับโลกอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู

เอด้า หัว
เอด้า หัว หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเพื่อเกื้อกูลสังคมประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด

“เรามีความมุ่งมั่นในการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นต้นแบบสำคัญในการสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น และเพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้เราจึงต้องการปรับกระบวนการผลิตทั้งหมด ตลอดจนกลุ่มสินค้า รวมไปถึงทุก ๆ การดำเนินงานที่จะสามารถปรับให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยสมบูรณ์ได้ในระยะยาว”

“โคเวสโตร” จึงเปิดตัวโครงการเชิงกลยุทธ์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในปี 2562 เพื่อการหมุนเวียนในทุก ๆ ด้าน ด้วยวิธีการแบบองค์รวม และได้เริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันด้วยการวางเป้าหมายและการวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นความเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 หัวข้อสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ใช้วัตถุดิบทางเลือก เช่น ชีวมวล คาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งาน และขยะเหลือใช้ ด้วยการนำมาใช้เพื่อแทนที่วัตถุดิบจากฟอสซิล อย่างเช่น น้ำมัน ที่มีส่วนในการก่อให้เกิดคาร์บอน

สอง ใช้นวัตกรรมการรีไซเคิล ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งาน และของเหลือใช้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สาม การใช้โซลูชั่นทั่วไป เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในเศรษฐกิจหมุนเวียนโคเวสโตรต้องการผลักดันและเปิดรับความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน

สี่ ใช้พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไฟฟ้าที่ผลิตจากต้นกำเนิดที่เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้งาน

“ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนเพื่อการปรับเปลี่ยนศูนย์การผลิตทั่วโลกในการใช้วัตถุดิบทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน และยังมีโครงการมากกว่า 20 โครงการที่กำลังเข้าสู่กระบวนการวิจัยเพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลที่ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว โคเวสโตรไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิต และผู้ให้บริการโซลูชั่นต่าง ๆ กับลูกค้าเท่านั้น แต่จะก้าวมาเป็นผู้ที่บุกเบิกนวัตกรรมรีไซเคิล”

ร่วมมือกับทุกภาคส่วน

“เอด้า” กล่าวด้วยว่า โคเวสโตรต้องการปรับคุณสมบัติต่าง ๆ ของสินค้าให้มีความเหมาะสมมากขึ้นต่อการนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อใช้งานใหม่ต่อไปได้ และเน้นความสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ให้มากขึ้น

“นอกจากนั้น เราต้องการผลักดันความร่วมมือกับคู่ค้าในทุก ๆ กิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดกระบวนการในการสร้างคุณค่า และการเอื้อประโยชน์ในโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่มุ่งการสร้างประโยชน์ร่วมกัน และมุ่งเน้นไปที่การเปิดรับความร่วมมืออีกมากมาย ตัวอย่าง เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพิ่มความโปร่งใสตลอดกระบวนการทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ยกตัวอย่าง เช่น การใช้บล็อกเชนช่วยเราให้มองเห็นที่มาที่ไปของวัตถุดิบรีไซเคิล และเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ”

“ผลิต บริโภค กำจัดทิ้ง เปรียบเหมือนการเดินรถทางเดียว หรือ linear model คือ แนวคิดแบบเศรษฐกิจเส้นตรง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค ที่เริ่มจากการใช้ทรัพยากร ผลิต และกลายเป็นขยะ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสอดคล้องกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาโลกของเรา เราต้องเปลี่ยนความคิดเดิมจากการใช้สิ่งต่าง ๆ แค่เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน”

ปฏิรูปอุตสาหกรรมพลาสติก

“เอด้า” อธิบายว่า ในฐานะที่โคเวสโตรเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก (Alliance to End Plastic Waste) ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทที่มีความมุ่งมั่นจากทั่วโลก บริษัทจึงดำเนินงานเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า พลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วจะไม่ถูกทิ้ง โดยปราศจากการควบคุมอย่างเหมาะสมอีกต่อไป

นอกเหนือจากวัตถุดิบทางเลือกอย่างผลิตภัณฑ์ที่สิ้นสุดอายุการใช้งานก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และชีวมวล พลังงานหมุนเวียนก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น โคเวสโตรจึงค่อย ๆ ปรับกระบวนการผลิตไปสู่แนวทางนี้

ซึ่งในขั้นตอนแรกที่สำคัญ คือ บริษัทจะจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในศูนย์การผลิตในประเทศเยอรมนี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 ด้วยการใช้พลังงานที่มีต้นกำเนิดพลังงานมาจากทุ่งกังหันลมในทะเลเหนือของเออร์สเตด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานจากประเทศเดนมาร์ก

“ทั้งนี้ การผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องอาศัยการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น โคเวสโตรจึงตั้งเป้าหมายความยั่งยืนลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2548 ถึงปี 2568 โดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีในการผลิตที่เรามีอยู่อย่างมากมาย”

ความท้าทายที่ต้องทำ

“เอด้า” บอกว่า การทรานส์ฟอร์มไปสู่ circular economy เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้สร้างความท้าทายในระดับองค์กรเท่านั้น ยังเป็นความท้าทายระดับประเทศไทย และโลกด้วย สามารถสรุปความท้าทายได้ 4 ประเด็น คือ

หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานของไทยรองรับการใช้ทรัพยากรเป็นแบบ linear model ทำให้เราต้องลงทุนจำนวนมากในการปรับโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี เพื่อจะทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

สอง นโยบายระดับประเทศในหลาย ๆ ประเทศยังไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

สาม ดีมานด์ในวัตถุดิบทางเลือกและวัตถุดิบรีไซเคิลยังมีไม่มากในตลาด ทำให้ราคาวัตถุดิบยังสูงมากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลให้คนเลือกใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิมที่มีราคาถูกกว่า ดังนั้น การให้ความรู้กับตลาดที่เกี่ยวข้องและพาร์ตเนอร์มีส่วนสำคัญมาก ที่จะผลักดันให้เกิดความต้องการวัตถุดิบทางเลือกและวัตถุดิบรีไซเคิลมากขึ้น

สี่ การปรับเปลี่ยนใด ๆ ใช้เวลานาน

“การผลักดันให้เกิดสังคม circular economy ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้คนในสังคมด้วย ที่ผ่านมา โคเวสโตร ประเทศไทย ทำหนังสือชุดสำหรับเด็กชื่อว่าจุดประกายความคิดเพื่อชีวิตที่สดใส มีวัตถุประสงค์สอนให้เด็ก ๆ เข้าใจปัญหาขยะ และรู้จักประโยชน์การรีไซเคิล ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้มีโคเวสโตรในประเทศอื่นแปลเป็นภาษาประจำชาติ เพื่อสอนเด็ก ๆ ในประเทศนั้น ๆ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และตอนนี้เรากำลังจะทำเล่มที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน”

นับว่าการเปลี่ยนไปสู่โลกแห่งการหมุนเวียนอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่จะช่วยให้โลกที่เราอยู่อาศัยมีความยั่งยืน สดใส และสะอาดยิ่งขึ้น

โดยอุตสาหกรรมพลาสติกมีบทบาทสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะพลาสติกสามารถพบเจอได้ในทุกพื้นที่ของวิถีชีวิตสมัยใหม่และเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน