“ถูกพัฒนา” กับ “ชุมชน”

คอลัมน์ CSR Talk

โดย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ถูกใช้เป็นเป้าหมายการพัฒนามาเป็นเวลานับทศวรรษ และปรากฏอย่างเด่นชัดครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)

แผนพัฒนาฯฉบับดังกล่าวมีการระบุถึงการพัฒนากระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวของชุมชน และประชาสังคม โดยอาศัยกลุ่มแกนวิทยากรกระบวนการจากทุกภาคส่วน การค้นหาศักยภาพของชุมชน โดยให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นแกนประสานรวบรวม

องค์ความรู้ในพื้นที่ การสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำแผนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และการติดตามประเมินผลการพัฒนาโดยชุมชนร่วมกับภาคีการพัฒนา

Advertisment

แต่จากภาพรวมของผลการพัฒนา แสดงให้เห็นว่าชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งได้ด้วยการ “ถูกพัฒนา” หากแต่ด้วยการ “พัฒนา” ที่เกิดจากชุมชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่ได้รับงบประมาณ จะมีโจทย์ในการพัฒนาตามพันธกิจ หรือตามประเด็นที่หน่วยงานสนใจ โดยไม่สอดคล้องกับโจทย์ที่เป็นความต้องการของชุมชน หรือเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องการแก้ไขอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน หลายชุมชนที่ถูกระบุเป็นเป้าหมาย ยินยอมให้ถูกพัฒนาตามกรอบพันธกิจของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ แลกกับสิ่งที่จะได้รับจากโครงการที่ลงไปดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาจึงไม่ได้กระทำอย่างตรงจุด ไม่ก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ (outcome) ตามที่ควรจะเป็น แม้จะได้ผลผลิต (output) ครบถ้วนตามข้อกำหนดของโครงการทุกประการ

Advertisment

บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สะท้อนจากการพัฒนาในหลายพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่าการใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้งไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาโดยลำพัง หากแต่ต้องคำนึงถึง “กาลเทศะ” คือ นอกจากการพิจารณาบริบทเชิงพื้นที่ (เทศะ) ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิสังคม ยังต้องพิจารณาถึงจังหวะเวลา หรือบริบทความพร้อม (กาล) ของชุมชน ที่มีความแตกต่างกัน

ตัวอย่างรูปแบบการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ที่มีการคำนึงถึงทั้งบริบทความพร้อมและพื้นที่ อาทิ การจำแนกชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ (ขั้น) โดยในระยะแรก เป็นการพัฒนาบุคคลหรือครัวเรือน ให้เป็นสัมมาชีพ ด้วยการลดการพึ่งพา ละความฟุ่มเฟือย เลิกอบายมุข ระยะที่สอง เป็นการพัฒนากลุ่มอาชีพ ให้เป็นผู้ประกอบการชุมชน (community entrepreneur : CE) ด้วยการรวมกลุ่ม รวมซื้อ รวมขาย และระยะที่สาม เป็นการพัฒนากิจการในระดับชุมชน ให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ ด้วยการสร้างความร่วมมือ ร่วมทุน ร่วมค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ มุมมองของการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่เดิมที่อาศัยการเคลื่อนไหวในแบบที่เป็น “ขบวนการพัฒนา” นั้น ใช้ได้ดี เมื่อเห็นทิศทาง หรือมีหัวขบวนนำที่ชัดเจน

แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ทิศทางการพัฒนามีหลายทางเลือก และมิได้มีหัวขบวนเดียว จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยอาศัยแนวคิดในแบบที่เป็น “ห่วงโซ่การพัฒนา” เปิดโอกาสให้มีผู้นำการเคลื่อนไหวจากหน่วยงาน หรือภาคีที่มีความชำนาญการ ดำเนินบทบาทในแต่ละข้อต่อของการพัฒนา ส่งมอบผลสัมฤทธิ์เป็นทอด ๆ ในสายโซ่ของการพัฒนานั้น ๆ

ตัวอย่างของห่วงโซ่การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใน “ต้นทาง” โดยมีการสร้างข้อต่อ “กลางทาง” ที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม เชื่อมโยงไปยังตลาด “ปลายทาง” ที่เป็นกิจการบริษัทขนาดใหญ่ เกิดเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนในห่วงโซ่ต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นต้น

การยัดเยียดการพัฒนาให้ชุมชน ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วยงานที่ลงพื้นที่ ทำให้ชุมชนกลายเป็นกรรม (object) ของการพัฒนา จึงถึงเวลาที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง จะต้องมีความแยบคายในการพัฒนา ที่สามารถทำให้ชุมชน ทำหน้าที่เป็นประธาน (subject) ของการพัฒนาให้ได้