วิสาหกิจชุมชนโคม่า  จี้รัฐฟื้นฟู-ขายสินค้าออนไลน์

วิสาหกิจชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่แสดงสถิติเปรียบเทียบจำนวนสมาชิกวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของปี 2563 เปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่ามีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งน่าจะมาจากทั้งวิสาหกิจชุมชนที่ขอปิดชั่วคราว ถูกเพิกถอน หรือขอปิดกิจการ และอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ตารางประกอบ) ทั้งนั้นเพราะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มการผลิตสินค้าและกลุ่มการผลิตพืชที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนยังทำหน้าที่เชื่อมโยงชุมชนกับตลาด รวมถึงความร่วมมือด้านองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ชุมชนยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง

จากสภาวะดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” จึงสอบถาม “สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Localalike พบว่า ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว หลังจากโควิด-19 ระบาดในประเทศ ผลประกอบการของวิสาหกิจชุมชนลดลง 40-50%

ADVERTISMENT

“หลังจากกลับมาระบาดในระลอก 2 ส่งผลให้ไม่มีรายได้ จนทำให้บางชุมชนจะต้องหารายได้จากส่วนอื่นมาทดแทน เช่น การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และทำประมงทดแทน เมื่อพิจารณาจากสถิติของจำนวนวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีจำนวนลดลง จากการสอบถามเบื้องต้น เป็นเพียงการหยุดกิจการชั่วคราว และเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงจะกลับมาดำเนินการกิจการต่อ”

ทั้งนี้ อาจมีวิสาหกิจชุมชนบางส่วนที่ประเมินว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้แม้จะคลี่คลายลงในวันหนึ่ง จนทำให้การท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องขึ้น แต่วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งยังมีข้อจำกัดด้านการลงทุน ซึ่งมองว่าภาครัฐควรเข้ามาช่วย “ฟื้นฟู” ด้วยการให้เข้าถึงแหล่งทุน
ซึ่งจะทำให้วิสาหกิจมีความยั่งยืนมากกว่าที่จะใช้การจ่ายเงินเพื่อเยียวยา

ADVERTISMENT

เพราะก่อนหน้านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ผลักดันให้มีการฟื้นฟูวิสาหกิจชุมชนด้านท่องเที่ยวนำเสนอหน่วยงานที่กำกับดูแลให้ช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ต่อไป

แต่ถ้ามองในส่วนธุรกิจของ Localalike นั้น “สมศักดิ์” ตอบอย่างชัดเจนว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกันกำลังซื้อลดลง และคาดว่าในปี 2564 โควิด-19 ยังจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยในทุกระดับ

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ Localalike ยังมีโครงการที่ร่วมมือกับภาครัฐ ในการดูแลชุมชนที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ เช่น การส่งเสริมให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการฝึกอบรม (workshop) เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าชุมชนตามความถนัดของแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชุมชน และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9”

“วิสาหกิจชุมชน เป็นรูปแบบการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ พึ่งพาตัวเองด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อยากเสนอให้ภาครัฐใช้แนวทางฟื้นฟูเหมือนกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น มาตรการคนละครึ่ง เพื่อให้พืชผลทางการเกษตร และศักยภาพของชุมชนถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือภาคเอกชนที่มีความสนใจจะเข้ามาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ด้วยการร่วมลงทุนเพื่อฟื้นฟูชุมชนก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้กับชุมชนได้”

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนนั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาความสามารถในการจัดการ และพัฒนารูปแบบวิสาหกิจชุมชน ให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ พร้อมทั้งพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมแข่งขันทางการค้าที่สำคัญคือการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ถามว่าเมื่อจดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนแล้วนั้น ประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับจะประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนจะได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมาย 2) สามารถขอรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจ

และ 3) มีสิทธิได้รับการส่งเสริม หรือสนับสนุนตามมาตรการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด อีกทั้งยังมีหน่วยงานกำกับดูแล พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเป็นหน่วยงานสำคัญให้วิสาหกิจชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

นอกจากนี้ ยังต้องมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน ในการให้คำแนะนำตามจุดแข็งของวิสาหกิจชุมชนที่มี

ขณะที่ “แววศิริ ฤทธิ์โยธี” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านสวนอิสรีย์ เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้า เมืองจันท์ เขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บอกว่า ในส่วนของกลุ่มถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ กับการปลูกพืชเกษตร ทำให้มีรายได้เข้ามาทดแทนจากการท่องเที่ยวได้

“อีกทั้งมีการใช้วิธีสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการสั่งซื้อในเฟซบุ๊กให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง โดยเฉพาะยอดขายทุเรียนที่ทำรายได้ทดแทนในส่วนท่องเที่ยวที่หายไปได้เกือบทั้งหมด และเชื่อมั่นว่าหากการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ภาพรวมของรายได้ไม่ได้ลดลงมากนัก และเป็นช่วงที่เปิดสวนพอดี จึงทำรายได้ให้กับสมาชิกโดยที่ไม่มีผลกระทบมากนัก แต่หากวิสาหกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจจะลำบากหน่อย บางรายก็ต้องหยุดกิจการไปก่อน รอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นก็อาจกลับมาทำต่อไป”