“เนสท์เล่” ประกาศเแผนความยั่งยืน 4 ด้าน มุ่งสู่ net zero ภายในปี 2050

เนสท์เล่เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง ดูแลและฟื้นฟูระบบอาหาร ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 เนสท์เล่ ประเทศไทย ประกาศแผนงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Roadmap) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เดินหน้ามิติความยั่งยืนใน 4 ด้าน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในการดูแลและฟื้นฟูระบบอาหาร

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เป็นระยะเวลากว่า 150 ปีที่เนสท์เล่มุ่งดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทอาหารที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในวันนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้อาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการที่ดีมีไม่เพียงพอ และไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงต้องร่วมมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เนสท์เล่ได้กำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทย และจะดำเนินงานครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เกิดการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อประเทศไทยและโลกที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป

ทั้งนี้ เนสท์เล่ ประเทศไทย กำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนใน 4 ด้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต เพื่อผลักดันเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ประกอบด้วย

1. บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก (sustainable packaging)

เนสท์เล่ ประเทศไทย มุ่งสร้างอนาคตปลอดขยะ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเนสท์เล่ระดับโลก ในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% และลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2568 ซึ่งในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเนสท์เล่ในไทยกว่า 90% สามารถนำไปรีไซเคิลได้

Advertisment

เนสท์เล่สร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หลอดกระดาษโค้งงอได้ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ UHT ซึ่งทดแทนการใช้หลอดพลาสติกกว่า 500 ล้านหลอดในปี 2564, บรรจุภัณฑ์แบบ mono-structure ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเดียวกัน และสามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นครั้งแรกของโลก, บรรจุภัณฑ์ภายนอกแบบกระดาษ, ซองไอศกรีมแบบกระดาษโดยไม่มีการเคลือบพลาสติก ครั้งแรกในธุรกิจไอศกรีมในไทย, กาแฟกระป๋องอะลูมิเนียม 100% ที่สามารถรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ ยังลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในการผลิตขวดน้ำดื่ม และพลาสติกหุ้มแพ็กอีกด้วย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บริษัทสามารถลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ได้ถึง 470 ตันภายในปี 2564

Advertisment
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า

2. จัดการน้ำอย่างยั่งยืน (water stewardship)

มุ่งดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนทั้งในโรงงานและชุมชนรอบข้าง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาได้ลดการใช้น้ำในโรงงานได้ 4.8% ต่อค่าเฉลี่ยของการผลิตผลิตภัณฑ์ 1 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2561

โรงงานผลิตน้ำดื่มของเนสท์เล่ 2 แห่ง คือ โรงงานพระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี ยังเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนระดับสากลจาก Alliance for Water Stewardship (AWS) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานระดับโลกในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และรับรองบริษัทที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันและมีการร่วมมือกับชุมชน

นอกจากนั้นได้ริเริ่มโครงการเยาวชนพิทักษ์สายน้ำ และสานต่อเป็นปีที่ 7 ด้วยความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ชุมชน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้อง และฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองขนมจีน จ.พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนให้แก่นักเรียนและชุมชนโดยรอบ

โครงการดังกล่าวสร้างผลดีต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านใน 13 ตำบล และจากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พบว่า น้ำในคลองขนมจีนมีคุณภาพดีขึ้นจากตัวชี้วัดทางเคมีและชีวภาพต่าง ๆ อาทิ ปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียต้องการใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ (BOD) และปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) และจำนวนสัตว์น้ำ เช่น หอยกาบ หอยขม และกุ้งฝอย มีมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนสามารถนำน้ำในคลองมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการอุปโภคและใช้ในการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

3. หาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (sustainable sourcing)

เพื่อช่วยปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญและให้การสนับสนุนให้มีผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยในประเทศไทย เนสท์เล่ได้ใช้น้ำนมวัวและเมล็ดกาแฟโรบัสต้า ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน 100%

นอกจากนั้น โครงการหลักที่เนสกาแฟได้จัดทำคือโครงการ Nescafé Plan ที่ได้กระจายต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์ที่ดีให้กับชาวสวนกาแฟ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตรในการปลูกกาแฟ ส่งเสริมการปลูกพืชร่วม เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากผลิตผลในระยะยาว

โดยในแต่ละปีได้จัดการอบรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,000 คน และกระจายต้นกล้ากาแฟให้เกษตรกรในท้องถิ่นรวมกว่า 3.5 ล้านต้น นับตั้งแต่ปี 2549 รวมถึงสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,500 คน ให้ผ่านเกณฑ์การทำสวนกาแฟตามมาตรฐานสากล 4C (Common Code for Coffee Community)

นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการทำเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูในการจัดการฟาร์มโคนม ด้วยการอบรมและสนับสนุนการจัดการระบบโภชนะสำหรับวัวเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ รวมทั้งให้ความรู้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้ตรงตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำและนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในฟาร์มอีกด้วย

4. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon reduction)

เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้นำร่องใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งผลิตภัณฑ์คิทแคทแบบควบคุมอุณหภูมิ รถสามล้อไฟฟ้าขายไอศกรีมเนสท์เล่ รวมถึงตั้งเป้าเปลี่ยน 41% ของกลุ่มรถยนต์ผู้บริหารให้เป็นรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังริเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานและกระบวนการผลิต เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2568

รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้พลังงานและน้ำ รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยแนวคิด 3R คือ reduce, rethink, replace และในปัจจุบันโรงงานทุกแห่งของเนสท์เล่ไม่มีขยะฝังกลบ

“จากการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนงานด้านความยั่งยืนทั้ง 4 ด้าน เรามั่นใจว่าเนสท์เล่ ประเทศไทย จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2568 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งในปี 2578 และบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้ในปี 2593”

“ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเส้นทางการดูแลและฟื้นฟู หรือ regeneration ของเรา โดยมุ่งยกระดับการดำเนินธุรกิจที่มากกว่าการไม่ทำร้ายโลก สู่การดูแลและฟื้นฟู เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และส่งผลดีต่อระบบอาหารในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชน ด้วยคำมั่นสัญญาระยะยาวของเราในการดูแลและฟื้นฟูเพื่อสร้างโลกที่ดีให้กับคนรุ่นต่อไป” นายวิคเตอร์กล่าวทิ้งท้าย